ไลฟ์สไตล์ แอร์พอร์ต ต้นแบบพัฒนา 'อู่ตะเภา'

Joe524

  • *****
  • 2200
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


นับจากวันลงนามสัญญา 19 มิ.ย.2563 เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี สำหรับโปรเจคร่วมลงทุน “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด หรือ UTA

ในช่วงที่ผ่านมา UTA ได้ดำเนินงานตามแผนอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะเวลา 1 ปี หลังลงนามสัญญานั้นได้จัดทำแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และล่าสุดในเดือน มิ.ย.2564 ได้ยื่นมาสเตอร์แพลนให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พร้อมลงสำรวจพื้นที่รอเริ่มงานก่อสร้าง

วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA เปิดเผยว่า สนามบินอู่ตะเภาขณะนี้การออกแบบคืบหน้าไปไกลพอสมควร นับจากเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ได้ยื่นมาสเตอร์แพลนให้ กพท. ซึ่งในปัจจุบันก็ไม่ได้รอแบบโดยไม่ทำอะไร และได้มีการลงพื้นที่เพื่อวัดระดับเตรียมพร้อมแล้ว เมื่อการออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ รวมทั้งยืนยันว่าพร้อมดำเนินการก่อสร้างทันที

ส่วนการพัฒนา “โครงการแอร์พอร์ตซิตี้” เป้าหมายจะไม่ได้เป็นแค่เมืองอุตสาหกรรม แต่จะเป็นไลฟ์สไตล์ซิตี้ ตอบโจทย์การใช้งานครบถ้วน โรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์การค้า สิ่งอำนวยความสะดวก และสมาร์ทซิตี้ อีกทั้งจะเป็น “เมืองแห่งการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด” (Cashless) เป็นเมืองดิจิทัล ซึ่งจะทยอยพัฒนาบนพื้นที่ 1 พันไร่ ด้วยงบประมาณการลงทุนหลายแสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี UTA ประเมินว่า การลงทุนในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นแผนลงทุนเฟสแรก สนามบินอู่ตะเภาต้องรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนตามเป้าหมาย คาดว่าใช้งบประมาณราว 5 หมื่นล้านบาท และหากรวมการพัฒนาแอร์พอร์ตซีตี้ควบคู่กันไปด้วยนั้น คาดว่าในเฟสแรกต้องใช้งบประมาณเกิน 1 แสนล้านบาท และเป้าหมายการลงทุนต่อเนื่องเพื่อรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน ด้วยงบประมาณราว 2 แสนล้านบาท ตลอดระยะสัมปทาน 50 ปี

“เราประเมินว่าเมืองการบินคาดสร้างจีดีพี 2.6 แสนล้านต่อปี ในปีที่ 10 ดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่าย 1.3 แสนล้านต่อปี และยังกระจายการท่องเที่ยวไปสู่ภูมิภาค กระจายนักท่องเที่ยวทำให้เจริญอย่างทั่วถึง และสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาไม่ได้ดึงนักลงทุนและต่างชาติ เรายังมีเป้าหมายตอบโจทย์คนไทยทุกคน ที่เราจะสร้างสถานที่ท่องเที่ยว และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อทำให้คนไทยมองว่าได้ประสบการณ์ท่องเที่ยวได้ในประเทศ ลดเงินไหลออกอีกปีละ 6,000 ล้านบาท รวมสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 4.5 แสนล้านบาทต่อปี”

อีกทั้งเมืองการบินจะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางทั้งคนและสินค้า ซึ่งจะทำให้นิคมอุตสาหกรรมทั้งหลายขยายการเติบโตไปได้ โดยเชื่อว่าแรงสนับสนุนจากการขนส่งที่ไร้รอยต่อนี้ รวมทั้งจะผลักดันให้จีดีพีไทยเติบโต 20% ช่วยประเทศ 3.7 ล้านล้านบาท และยังไม่รวมการสร้างงานอีกหลายแสนคน

ไลฟ์สไตล์ แอร์พอร์ต ต้นแบบพัฒนา "อู่ตะเภา"

ส่วนอุปสรรค คือ โจทย์ในการดึงดูดการขนส่งและการท่องเที่ยว ซึ่งจะดำเนินการอย่างไรให้สายการบินเลือกสนามบินอู่ตะเภาเป็นจุดบิน เพื่อดึงเอาสินค้าและนักท่องเที่ยวมาด้วย โดยขณะนี้ UTA กำลังมองถึงการผลักดันเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงดูดกลุ่มนักลงทุน ในด้านอุตสาหกรรม โดยจะพัฒนาที่นี่ให้เป็นสนามบินและแอร์พอร์ตซิตี้ 24 ชั่วโมง เป็นเมืองที่ใช้ชีวิตได้ 24 ชั่วโมงอย่างปลอดภัยเป็นเมืองไลฟ์สไตล์ ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มโลจิสติกส์และกลุ่มท่องเที่ยว

“เรามีคอนเซ็ปต์สร้างสนามบินที่แทรกความเป็นไทย มีความอาร์ตอยู่ในตัว จะเป็นสตรีทอาร์ต และมีความสนุกเป็นกันเอง มีสีสัน ทำให้มาแต่ละครั้งไม่เหมือนเดิม ได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น เป็นประสบการณ์ที่สดและหลากหลาย พร้อมทั้งกระจายไปพื้นที่อื่น ทำให้ทริปของนักท่องเที่ยวยาวขึ้น เชื่อมโยงไปภูมิภาคและพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น เป็นอีกโจทย์ที่เราต้องทำการบ้าน”

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 เป็นผลต่อการลงพื้นที่ไปบ้าง แต่โครงการโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินงานไปตามแผน

ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย สกพอ.ตั้งเป้าว่า ในช่วงปลายปี 2564 สกพอ.จะเริ่มทำโรดโชว์ท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รวมทั้งจะเปิดหน้าดินให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานเริ่มงานก่อสร้าง โดยสัญญาว่าภายในปี 2564 จะเริ่มเห็นการเปิดหน้าดินเป็นเรื่องราวทั้งท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รวมไปถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)

“สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ถือเป็นหัวใจของอีอีซี ซึ่งขณะนี้ทราบว่าเอกชนอยู่ระหว่างทำแผนพัฒนา และมีการวางรูปแบบดีไซด์คอนเซ็ปต์สนามบินนี้อย่างน่าสนใจ เพราะทางทีมกำลังเสนอคอนเซ็ปต์ให้ที่นี่เป็นสนามบิน Entertainment and Art เพื่อโตเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค”

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ สกพอ.ประมาณการณ์ว่าในช่วงแต่ละปีหลังจากนี้ อีอีซีจะดึงเม็ดเงินลงทุนได้ 3-4 แสนล้านบาทต่อปี เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ให้ขยายตัว 5 ดังนั้นอีอีซีในระยะข้างหน้าต้องเพิ่มการลงทุนมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยแผนที่ สกพอ.จะทำ ส่วนหนึ่งมาจากการขับเคลื่อนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และจะมีการสร้างเมืองใหม่ เพื่อทำให้เม็ดเงินลงทุนที่ตอนนี้มีจากโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนจากบีโอไอ 8 แสนล้าน จะเพิ่มเข้ามาอีกปีละ 2 แสนล้าน

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีมูลค่าการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนประมาณ 200,000 ล้านบาท มีกำหนดเปิดบริการในปี 2568