สนค.ชี้ช่องธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทยบุกไห่หนาน

PostDD

  • *****
  • 1298
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาโอกาสทางเศรษฐกิจไทยในมณฑลไห่หนาน ตามนโยบาย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการหาโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบการไทย เพื่อต่อยอดการค้าที่ต่อเนื่องมาจากการลงนามบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางการค้าไทย-ไห่หนาน ซึ่งถือเป็น Mini-FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับมณฑลในประเทศจีน เมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งใน 14 นโยบายสำคัญที่ให้ไว้กับกระทรวงพาณิชย์ โดยพบว่า ไห่หนาน เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ที่มีโอกาสในธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย เพราะรัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบาย Hainan Free Trade Port เพื่อมุ่งเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง และอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางการแพทย์และยา (Health & Medical) และเมืองโป๋อ๋าว (Boao) เป็นเขตนำร่องการท่องเที่ยวทางการแพทย์นานาชาติ “ไห่หนานโป๋อ๋าวเล่อเฉิง” (Hainan Boao Lecheng International Medical Toursim Pilot Zone) เน้นความล้ำสมัยทางการแพทย์ในระดับนานาชาติ ทั้งด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์การแพทย์ และเวชภัณฑ์ และยกให้เป็นเมืองแห่งการประชุมและศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ จึงทำให้เกิดการพัฒนาสิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สนามกอล์ฟ

ทั้งนี้ เมืองโป๋อ๋าวอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงยังคงขาดแคลนทั้งจำนวนของสถานพยาบาลระดับสูง อุปกรณ์การแพทย์ เทคโนโลยี รวมถึงประสบการณ์ในการบริหารจัดการ ทำให้หน่วยงานสถานพยาบาลในไห่หนานจำเป็นต้องหาความร่วมมือจากรอบด้าน โดยจีนได้ประกาศให้สถาบันทางการแพทย์จำกัดการลงทุนให้อยู่เพียงรูปแบบการร่วมหุ้นหรือความร่วมมือเท่านั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับไทยที่จะเข้าไปร่วมมือ โดยไทยมีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานกว่า 64 แห่งทั่วประเทศ ที่เพียบพร้อมด้วยประสบการณ์และการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนับได้ว่าเป็นโอกาสที่จะทำข้อตกลงความร่วมมือในการลงทุนในพื้นที่ไห่หนาน

นอกจากนี้ ยังพบว่าไทยมีโอกาสในธุรกิจภาคบริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยสามารถขยายตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) รวมถึงสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ผ่านความร่วมมือเชิงการแพทย์ และความร่วมมือด้านทัวร์เรือสำราญ โดยครอบคลุมธุรกิจ เช่น การรักษาพยาบาล ศัลยกรรมความงาม อาหารเพื่อสุขภาพ ร้านอาหาร สปา ผลิตภัณฑ์ด้านความงาม ได้แก่ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ซึ่งเป็นธุรกิจที่ SME ไทยมีศักยภาพและชาวจีนนิยมเลือกไทย

ขณะเดียวกัน มีโอกาสที่จะพัฒนาความร่วมมือและส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น ขยายความร่วมมือและพัฒนาเส้นทางเดินเรือยอชต์ เรือสำราญ ขยายท่าเรือน้ำลึกให้สามารถรองรับเรือสำราญให้มากขึ้นตามนโยบายผลักดันให้ จ.ภูเก็ต เป็นมารีนาฮับ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและส่งเสริมการลงทุน และมีโอกาสสร้างการจ้างงานสำหรับคนไทยที่ต้องการไปทำงานภาคบริการในจีน โดยมณฑลไห่หนานได้ประกาศรับสมัครผู้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบริการยุคใหม่ การท่องเที่ยว และเทคโนโลยีขั้นสูงจากทั่วโลก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐควรเร่งให้ความรู้แก่แรงงานศักยภาพไทย เช่น กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ขั้นตอนการสมัคร การเดินทางไปทำงาน รวมถึงสิทธิและสวัสดิการแรงงาน

“ไห่หนานกำลังกลายเป็นอีกหนึ่งมณฑลที่น่าสนใจลงทุนสำหรับธุรกิจจากไทย ทั้งในแง่การนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในร้านค้าปลอดภาษี การร่วมลงทุน การเป็นพันธมิตรในธุรกิจการท่องเที่ยว และการร่วมลงทุนหรือเป็นพันธมิตรในเขตการดูแลสุขภาพพิเศษ (Special Health Care Zone) ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์การพัฒนาท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานอย่างใกล้ชิด” นายภูสิตกล่าว

แม้ว่าเกาะไห่หนานยังคงมีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างเล็กเป็นอันดับ 28 จากทั้งหมด 31 เขตการปกครองของจีน แต่ในช่วงระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2553-2562) พบว่าไห่หนานมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 11.06 ต่อปี โดยเฉพาะการค้าปลีกปลอดภาษีเติบโตสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดที่คนจีนออกนอกประเทศไม่ได้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับฮ่องกงแล้ว พบว่าฮ่องกงมีจุดแข็งกว่าเกาะไห่หนานในหลายด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมทั้งท่าเรือและสนามบิน ความหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจการค้ากับประเทศคู่ค้าใหญ่ๆ และเป็นแหล่งส่งออกสินค้าและบริการทางการเงินที่สำคัญ ซึ่งการผลักดันมณฑลไห่หนานให้ขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญในจีนเทียบเท่าฮ่องกงนั้นยังคงต้องอาศัยระยะเวลาของการพัฒนา

ปัจจุบันไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ไทย และออสเตรเลีย ตามลำดับ โดยไทยมีข้อได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้งที่มีภูมิประเทศสวยงาม มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลาย บุคลากรมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ มีความคุ้มค่าคุ้มราคา เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง มีศิลปวัฒนธรรมประเพณี และการผสมผสานศาสตร์ในการดูแลสุขภาพเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย เช่น การนวดของไทย สปาสมุนไพร ฤาษีดัดตน อาหารเพื่อสุขภาพ และบริการทางการแพทย์