BCH เพิ่มเป้ารายได้ปี 64 โต 80-100% ผู้ป่วยโควิดหนุน

Prichas

  • *****
  • 2725
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


นายเฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH เปิดเผยว่า บริษัทปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้ปี 2564  เป็นเพิ่มขึ้น 80-100% จากเดิมคาดโต 10-15% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีรายได้รวม 6,715.58 ล้านบาท เนื่องจาก รายได้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เติบโตสูงกว่า 50% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และจากโควิด-19 ที่ระบาดหนัก ทำให้มีผู้ติดเชื้อเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลของบริษัทเพิ่มขึ้น  ล่าสุด จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโควิด-19 กับโรงพยาบาลในเครือ BCH รวมถึงโรงพยาบาลสนามและหอผู้ป่วยเฉพาะกิจที่บริษัทร่วมกับภาครัฐและโรงแรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 14,207 เตียง จากเดือนที่ผ่านมา 9,801 เตียง 

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ปัจจัยหนุนจากปริมาณการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวมาอยู่ที่ 7-8 แสนเคสในไตรมาส 3 ปี 2564 ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น และการรับตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้แก่ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้ไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นไตรมาสที่รายได้เติบโตโดดเด่นมากที่สุด และดีต่อเนื่องไปยังไตรมาส 4 ปี 2564 ทำให้บริษัทมั่นใจว่ารายได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเติบโตมากกว่าครึ่งปีแรก

ขณะที่การฉีดวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา สำหรับล็อตแรกจำนวน 5 ล้านโดส บริษัทได้รับจัดสรร 1.06 หมื่นโดส ซึ่งจะทยอยนำเข้า 40% ในไตรมาส 4 ปี 2564 และอีก 60% ที่เหลือจะนำเข้าในไตรมาส 1 ปี 2565 คาดว่าจะเริ่มฉีดและรับรู้รายได้ทันทีภายในสิ้นปี 2564 ส่วนล็อตที่สองจำนวน 5 ล้านโดส บริษัทได้สิทธิรับจัดสรร 1-1.2 ล้านโดส ซึ่งจะเปิดจองในไตรมาส 4 ปี 2564 และให้บริการฉีดในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ส่วนล็อตที่สามจำนวน 5 ล้านโดส คาดว่าจะเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งบริษัทจะแจ้งความคืบหน้าสิทธิจัดจำหน่ายต่อไป

เมื่อสอบถามถึงการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) อนุมัติการใช้อย่างเต็มรูปแบบ นายเฉลิม กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้สั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ล็อตใหญ่จำนวน 30 ล้านโดส เพื่อนำเข้ามาใช้ในกรณีฉุกเฉิน ส่วนการนำเข้าเพื่อใช้ในกรณีปกติปัจจุบันอำนาจอยู่ที่ไฟเซอร์ ประเทศไทย อ้างอิงจากที่สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดให้ไฟเซอร์ ประเทศไทย สามารถนำข้อมูลมายื่นขึ้นทะเบียนได้เพิ่มเติม

ทั้งนี้ ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนไม่จำเป็นต้องสั่งซื้อโดยตรงจากไฟเซอร์ในต่างประเทศเพื่อนำเข้ามาจำหน่าย และสามารถสั่งซื้อจากไฟเซอร์ ประเทศไทย ได้โดยตรง อย่างไรก็ดี จากการสอบถาม อย.เพิ่มเติม คาดว่าการดำเนินการจริงจะกินระยะเวลาประมาณ 1 ปี และในมุมมองส่วนตัวคาดว่าไฟเซอร์ ประเทศไทย จะยังไม่พิจารณาดำเนินการในเร็วๆ นี้ เนื่องจากประเทศไทยมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมายที่แตกต่างจากในสหรัฐ โดยไม่มีกฎหมายรองรับความเสี่ยงที่ชัดเจนในกรณีที่เกิดผลแทรกซ้อนภายหลังการฉีดวัคซีน