'ไข้หูดับ' โรคที่คุ้นเคยแต่ทวีความน่ากลัว

Hanako5

  • *****
  • 1878
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     



แค่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ก็น่ากลัวแล้ว แต่ล่าสุดมีข่าวการติดเชื้อไข้หูดับจนเสียชีวิตยิ่งเป็นการเพิ่มความน่าหวาดวิตกเพิ่มขึ้นไปอีก

โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อว่า สเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis.) โดยส่วนใหญ่สาเหตุหลักเกิดจากหมู แต่ความจริงแล้วโรคนี้จะเกิดการติดเชื้อที่ เยื่อหุ้มสมอง กระแสโลหิต ทำให้เกิดอาการความดันตกจนถึงขั้นเกิดอาการช็อกได้ หรือมีข้ออักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ ติดเชื้อในช่องท้อง

สาเหตุ แหล่งที่มาของโรค การติดต่อ การแพร่ระบาด ความรุนแรงของโรค
สาเหตุหลักของการติดเชื้อ คือการสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรีย สเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) ที่อยู่ในหมู เพราะฉะนั้น อาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องกับหมู อาจเกิดความเสี่ยงค่อนข้างสูง เช่น พ่อค้าขายหมู โรงงานแล่เนื้อหมู หรืออีกกลุ่มที่พบบ่อยคือ กลุ่มกินหมูดิบ ไม่ได้ผ่านปรุงสุกให้ดี และกลุ่มสัตวแพทย์ที่ดูแลหมู เพราะเชื้อแบคทีเรียตัวนี้จะอยู่ในระบบทางเดินหายใจของหมู (ทอนซิล) ระบบทางเดินอาหาร (ลำไส้)


สาเหตุหลักของการติดเชื้อในหมูคือ การเลี้ยงฟาร์มปศุสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐานในเรื่องสุขอนามัย หรือ ความสะอาด คอกหมูสกปรกไม่ได้มาตรฐาน อับชื้น ทำความสะอาดไม่ดี อาจทำให้เชื้อแบคทีเรีย สเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) ก่อโรคในหมู แต่มีพบรายงานการติดเชื้อในสัตว์ประเภทอื่นอยู่บ้าง เช่น ม้า แมว สุนัข หมูป่า

ส่วนใหญ่การติดต่อของโรคนี้เกิดจากการสัมผัสเนื้อหมูที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) ผู้สัมผัสไม่มีการสวมถุงมือ และมีแผลที่นิ้ว จะทำให้เกิดการติดต่อได้ง่ายขึ้น หรือในบางรายมีการสูดดมกลิ่นเข้าไป อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ ถ้าเป็นการรับประทานก็จะก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ทางเยื่อบุในช่องปาก ในลำไส้ โดยเชื้อจะวิ่งเข้าสู่กระแสโลหิต ไปยังสมอง อาจอันตรายถึงชีวิตได้


ความรุนแรงของโรคจะมีหลายระดับ แต่ที่อันตรายที่สุด คือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสโลหิต ความดันตก ติดเชื้อที่ผิวหนังอักเสบรุนแรงมีเลือดออกที่ผิวหนัง ลิ้นหัวใจ ปอดอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบอาการเหล่านี้รุนแรงต้องรีบได้รับการรักษา หรือในคนที่เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจเกิดสภาพหูดับได้หลังจากการรักษา หรือถ้าเซลล์สมองส่วนไหนโดนทำลายก็อาจส่งผลต่ออวัยวะนั้นๆ เช่น เสียการทรงตัว วิงเวียนศีรษะ

อาการหลังได้รับเชื้อ ต้องมีการสอบถามประวัติว่ามีการสัมผัสหมูหรือไม่ หรือกินเลือดหมู เนื้อหมูดิบ อาการคือ ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน มีแนวโน้มติดเชื้อ

วิธีรับประทานอาหารป้องกันโรคไข้หูดับ

กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หมูที่นำประกอบอาหารต้องผ่านอุณหภูมิความร้อน อย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ในการประกอบอาหารต้องมั่นใจว่าสุก ไม่มีเลือดที่ชิ้นเนื้อ แปลว่ายังมีเชื้อโรคอยู่ ประกอบอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ห้ามทานดิบเด็ดขาด ระหว่างการประกอบอาหารควรสวมถุงมือ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุมีดบาดมืออาจทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปสู่กระแสเลือดได้ รวมถึงอุปกรณ์ที่ มีด เขียงหั่นหมู ต้องมีการทำความสะอาดทุกครั้ง

การรับประทานอาหาร หากเป็นอาหารประเภทปิ้งย่าง ควรมีการแยกตะเกียบ คือ ตะเกียบสำหรับใช้กับเนื้อดิบ และตะเกียบสำหรับใช้กับเนื้อที่สุกแล้ว


การเลือกซื้อเนื้อหมูมาประกอบอาหาร อาจจะแยกยากโดยการใช้ตาเปล่า แต่ดูความสดของหมู หากมีกลิ่น หรือสีที่ดูมีแนวโน้มใกล้จะเสีย ไม่ควรซื้อ แต่ถ้าเกิดไม่มั่นใจ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำมาประกอบอาหารต้องสุกเสมอ

บทความโดย : นพ.วิชิต ประสานไทย อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลพญาไท 1