ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในไทย สะท้อนผ่านค่าไฟ 45.43 สต.ต่อหน่วย

Joe524

  • *****
  • 2200
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


ผลพวงนโยบายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน สะท้อนต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าปัจจุบันรวม 45 สตางค์ต่อหน่วย และผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศต้องมีส่วนร่วมรับภาระดังกล่าว ขณะที่กระทรวงพลังงาน คาดหวังว่า อนาคตภาระนี้จะลดลงตามการแข่งขันและเทคโนโลยีที่ถูกลง

การส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านการให้เงินสนับสนุนทั้งในรูปแบบการกำหนดส่วนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และการใช้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed-in-Tariff) หรือ FiT ตามนโยบายภาครัฐ

ล่าสุดในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2564 คิดเป็นต้นทุนสะท้อนผ่านค่าไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่าย อยู่ที่ 31.13 สตางค์ต่อหน่วย หรือ เป็นวงเงินรวม 18,302 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2564 ที่กระทบค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 33.28 สตางค์ต่อหน่วย หรือ คิดเป็นวงเงิน 19,934 ล้านบาท

อีกทั้ง ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2564 ที่อุดหนุน 31.13 สตางค์ต่อหน่วยดังกล่าว เป็นในส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) และยังมีการอุดหนุนพลังงานหมุนเวียนก่อนหน้านี้ที่ถูกคำนวณรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าฐานอีก 14.30 สตางค์ต่อหน่วย (คำนวณไว้เมื่อปี 2558 รวมเป็นเงิน 8,284 ล้านบาท)

เท่ากับว่าในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2564 ประเทศไทย มีต้นทุนการอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายรวม 45.43 สตางค์ต่อหน่วย ( คิดเป็นเงินประมาณ 26,586 ล้านบาท )​ จากค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ย 3.61 บาทต่อหน่วย

โดยการอุดหนุนพลังงานหมุนเวียนที่มีแนวโน้มลดลงจากช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.2564 เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบน้อยลง รวมทั้งความผันผวนของสภาพอากาศทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่เสถียรและลดลง ประกอบกับโครงการเดิมที่ได้รับเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder)ในอัตราสูง ก็เริ่มทยอยหมดอายุลง

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่าในปี 2564-2565 ยังมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะทยอยเข้าระบบเพิ่มเติม คือ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาลและสูบน้ำเพื่อการเกษตร(โครงการนำร่อง) จำนวน 50 เมกะวัตต์ กำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 31 ธ.ค. 2564 ซึ่งโครงการนี้จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าน้อย เนื่องจากเป็นการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าต่ำ

รวมถึง ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นำร่อง 150 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการนี้อาจมีผลกระทบต่อค่าไฟบ้าง แต่ก็เกิดประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายภาครัฐ

ทั้งนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ได้รับเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตราที่สูงถึง 8 บาทต่อหน่วย ที่มีสัญญาระยะ 10 โดยกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับ Adder ซึ่งมีการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2557 ที่ผ่านมา จะหมดอายุสัญญาในปี 2567 และจะช่วยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนลดลงได้อีก

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในอนาคตจะมีผลพวงต่อค่าไฟฟ้าน้อยลง เนื่องจากต้นทุนเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มถูกลง และภาครัฐจะใช้นโยบายแข่งขันด้านราคาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

“ต่อไปพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ของโลก ที่สอดรับกับพลังงานสะอาด จะมีต้นทุนถูกลง เพื่อให้แข่งขันได้กับเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าอีกต่อไป หรือ มีภาระน้อยลงมาก”

อย่างไรก็ตาม  โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปัจจุบัน ในบิลเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ค่าไฟฟ้าฐาน, ค่าไฟฟ้า Ft (ค่าเอฟที) และภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ในอนาคตอันใกล้ ในบิลค่าไฟฟ้า จะปรากฏข้อมูล “ประมาณการค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense : PE)” เข้าไปแสดงให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้เห็นถึงรายจ่ายฯที่สะท้อนต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตด้วย 

เนื่องจาก การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 มีมติเห็นชอบนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้า(ปี พ.ศ. 2564 – 2568) และกรอบแนวทางการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟ เพื่อให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปจัดทำรายละเอียดในการกำกับดูแลและกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ให้เกิดความชัดเจน พร้อมนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุม กพช. ภายในปี 2565

โดยมติดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนในการให้บริการของกิจการไฟฟ้าอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทั้งผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม เพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงบริบทของอุตสาหกรรมไฟฟ้า ที่เกิดจากนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทาง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ามีความเกื้อหนุนต่อการรักษาประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศโดยรวม