‘อภิชาติพงศ์’ คอลเอาท์บนเวทีหนังเมืองคานส์ หลัง ‘Memoria’ คว้า JURY Prize ไปครอง

Joe524

  • *****
  • 2200
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     

“เจ้ย อภิชาติพงศ์” ถือโอกาส“คอลเอาท์” เรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ระหว่างขึ้นรับรางวัล "Jury Prize" ใน "เทศกาลหนังเมืองคานส์" จากภาพยนตร์เรื่อง “Memoria”

‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ หรือ ‘เจ้ย’ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย สร้างชื่อใน ‘เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์’ อีกครั้งเมื่อ Memoria ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาได้รางวัล ‘The Jury Prize’ หรือรางวัลขวัญใจกรรมการ จาก Cannes Film Festival ครั้งที่ 74 ที่เพิ่งประกาศไปสด ๆ ร้อนๆ เมื่อเวลาประมาณตีหนึ่งของวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ตามเวลาประเทศไทย โดย Memoria ได้รับรางวัลนี้ร่วมกับภาพยนตร์เรื่อง Ahed’s Knee ของผู้กำกับชาวอิสราเอล Nadav Lapid

หากจะพูดว่าอภิชาติพงศ์เป็นผู้กำกับชาวไทยที่ไปโลดแล่น และโด่งดังในต่างแดนมากกว่าในประเทศบ้านเกิดก็คงไม่ผิด เพราะเขาเป็นคนทำหนังนอกระบบ และมักทำผลงานออกมาในแนวทดลอง ใช้นักแสดงที่ไม่ได้เป็นมืออาชีพ ทำให้หนังของเขาถูกจริตคนที่ชอบภาพยนตร์สายประกวด หรือหนังอาร์ตมากกว่า

ความเก่งกาจของอภิชาติพงศ์ฉายออกมาให้เห็นตั้งแต่ในภาพยนตร์สารคดียาวเรื่องแรกของเขา ‘ดอกฟ้าในมือมาร’ (Mysterious Object at Noon) พ.ศ. 2543 ที่ได้เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติจำนวนมาก และได้รางวัลมาครองถึง 4 รางวัล แถมยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดประจำปี 2543 โดยนิตยสาร The village voice

ชื่อเสียงของอภิชาติพงศ์โด่งดังมากขึ้นเมื่อภาพยนตร์เรื่อง ‘สุดเสน่หา’ (Blissfully Yours) ได้รับรางวัล Un Certain Regard ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประจำปี พ.ศ. 2545 และถูกจัดเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่คานส์โดยนิตยสาร Le Cahiers du Cinema

ตามมาด้วย ‘สัตว์ประหลาด!’ (Tropical Malady) พ.ศ. 2547 กับรางวัล Jury Prize ซึ่งเป็น ‘ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก’ ที่ได้รับคัดเลือกในสายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อีกด้วย และ ‘แสงศตวรรษ’ (Syndromes and A Century) พ.ศ. 2549 กับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Lotus du Meuilleur Film-Grand Prix ในงานเทศกาลภาพยนตร์จากเอเชีย ครั้งที่ 9 ประเทศฝรั่งเศส

ก่อนที่จะมาถึงจุดพีคเมื่อภาพยนตร์เรื่อง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (พ.ศ. 2553) ได้รับรางวัล ‘ปาล์มทองคำ’ ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 63

เรียกได้ว่าอภิชาติพงศ์เป็น ‘ผู้กำกับขาประจำ’ ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์กันเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะมีหนังเข้าประกวด และได้รับรางวัลเป็นว่าเล่นแล้ว เขายังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัล (ในส่วนของภาพยนตร์สายหลัก) ประจำเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี ค.ศ. 2008 อีกด้วย

แล้วในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 74 นี้ อภิชาติพงศ์ก็สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง และประเทศไทยอีกครั้งเมื่อภาพยนตร์เรื่อง Memoria ได้รับรางวัล Jury Prize (รางวัลพิเศษจากคณะกรรมการ) ไปครอง ซึ่งก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจเท่าไรนัก เพราะในการฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากที่หนังจบลง ผู้ชมในโรงต่างพากันลุกขึ้นยืนปรบมือให้กับอภิชาติพงศ์เป็นเวลานานถึง 14 นาที ก่อนที่เจ้าตัวจะกล่าวคำว่า Long Live Cinema หรือ “ภาพยนตร์จงเจริญ” ออกมา


ส่วนตอนที่ขึ้นไปรับรางวัล Jury Prize และกล่าวคำปราศัยบนเวทีนั้น อภิชาติพงศ์ได้ถือโอกาสใช้เวทีระดับโลกอย่างเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ‘คอลเอาท์’ ถึงสถานการณ์ในประเทศว่า

“ผมโชคดีที่ได้มายืนอยู่ที่นี่ในขณะที่เพื่อนร่วมชาติของผมจำนวนมากไม่อาจเดินทางได้ พวกเขาจำนวนไม่น้อยต้องทุกข์แสนสาหัสจากโรคระบาด เพราะการบริหารจัดการผิดพลาดเรื่องทรัพยากร การสาธารณสุข และการเข้าถึงวัคซีน

ผมอยากจะเรียกร้องรัฐบาลไทย รัฐบาลโคลอมเบีย รวมถึงรัฐบาลประเทศอื่น ๆ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน ขอให้ตื่นขึ้น และทำงานเพื่อประชาชนของพวกคุณ เดี๋ยวนี้”