ทางเลือกใหม่ในการออมต่อยอดสู่ความมั่งคั่งด้วยพันธบัตรออมทรัพย์กับกรุงไทย


     
       ปัจจุบันการออมเงินอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะทางเลือกใหม่คือการลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งและสร้างรากฐานทางการเงินให้มั่นคงกว่าเดิม และหนึ่งในทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันก็คือการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ จากรัฐบาล

พันธบัตรรัฐบาลคืออะไร
พันธบัตรรัฐบาล คือผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทตราสารที่ออกโดยกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชน ดังนั้นประชาชนทั่วไปจึงสามารถจองซื้อและถือครองได้ โดยทางรัฐบาลสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นให้แก่ผู้ถือครองเมื่อครบกำหนดหรืออาจจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ ซึ่ง พันธบัตรออมทรัพย์ ส่วนใหญ่จะมีอายุ 1 ปี ไปจนถึง 5 ปี นักลงทุนจึงสามารถวางแผนได้ว่าต้องการลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว

พันธบัตรรัฐบาลต่างจาก กองทุนรวม อย่างไร?
พันธบัตรเป็นตราสารหนี้รูปแบบหนึ่งออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ โดยสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนอย่างดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุหรือจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ มีความคล้ายคลึงกับหุ้นกู้ แต่หุ้นกู้คือตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน
ส่วน กองทุนรวม เป็นการมอบเงินให้กับนักลงทุนหรือบริษัทหลักทรัพย์มืออาชีพที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเพื่อให้บริหารเงินแทนเรา สามารถเลือกลงทุนใน กองทุน สินทรัพย์ต่าง ๆ ได้ตามความสนใจ บางกองทุนอาจมีทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน รวมถึงหุ้นอยู่ในกองทุนเดียว เปรียบได้กับการลงทุนในแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่เพื่อให้นักลงทุนที่มีความรู้และประสบการณ์นำเงินของเราไปบริหารจัดการแทน ส่วนผลตอบแทนมีทั้งรูปแบบเงินปันผลและรูปแบบกำไรจากส่วนต่างเมื่อขายคืน
ความแตกต่างระหว่างพันธบัตรกับ กองทุน คือการซื้อพันธบัตรมีกำหนดระยะเวลาการรับผลตอบแทนที่แน่นอน โดยเรามีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล ส่วนการ ซื้อกองทุน เป็นการลงทุนสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาบริหารจัดการเงินด้วยตัวเอง จึงลงเงินในกองทุนที่สนใจเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ของกองทุนนั้นบริหารเงินแทนเราและรอรับผลตอบแทนในรูปแบบปันผลหรือส่วนต่างเมื่อทำการขายคืน

อยากซื้อพันธบัตรทำอย่างไร
การซื้อพันธบัตรสามารถซื้อขายได้ใน 2 ตลาด ได้แก่
1. ตลาดแรก (Primary Market) คือ การซื้อขายตั้งแต่ต้นทางระหว่างผู้ออกพันธบัตรกับนักลงทุน ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มนักลงทุนรายย่อย (บุคคลทั่วไป) ที่ซื้อพันธบัตรได้จากธนาคาร ด้วยราคาเริ่มต้น 1 – 1,000 บาทต่อหน่วย และนักลงทุนสถาบันซึ่งจะมีการตั้งราคาเพื่อประมูลซื้อพันธบัตรในรอบนั้น

2. ตลาดรอง (Secondary Market) คือ การซื้อขายพันธบัตรระหว่างนักลงทุน ซึ่งมักจะเป็นการซื้อขายพันธบัตรที่ยังไม่ครบกำหนดสัญญา หากใครไม่ต้องการถือครองพันธบัตรต่อก็แจ้งความประสงค์ซื้อขายก่อนครบกำหนดได้ โดยนักลงทุนจะตกลงราคาซื้อขายกันเองในตลาดหรือผ่านโบรกเกอร์

          ส่วนวิธีการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์จากรัฐบาลสามารถทำได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ผ่านธนาคารกรุงไทยและแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ในช่วงที่มีการซื้อขาย ส่วนการซื้อขายในตลาดรองก็สามารถทำได้ผ่านบริการ Money Connect ของแอป Krungthai NEXT ได้เช่นกัน

ขั้นตอนการจองซื้อพันธบัตรผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT
เลือกเมนู บริการ
เลือกเมนู พันธบัตรออมทรัพย์
เลือกเมนู รุ่นพันธบัตรที่ต้องการจอง
ระบุ จำนวนที่จองซื้อ
ตรวจสอบความถูกต้องของการสั่งจองซื้อและยืนยันการชำระเงิน

        อย่างไรก็ตามการจองซื้อพันธบัตรสามารถทำได้ในช่วงที่มีประกาศขายพันธบัตรจากรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้น หากไม่อยู่ในช่วงเปิดตลาดซื้อขายจะไม่มีคำสั่งซื้อที่สามารถดำเนินการได้ ส่วนผู้ที่ต้องการซื้อขายพันธบัตรในตลาดรองสามารถเลือกเมนู บริการ และเลือกเมนู Money Connect กรอกข้อมูลแบบประเมินความเสี่ยงแล้วเข้าสู่หน้าการซื้อขาย จากนั้นเลือกเมนูตลาดรองแล้วทำการซื้อขายที่ต้องการได้เลย

พันธบัตรรัฐบาล เปิดขายช่วงไหนบ้าง
         พันธบัตรรัฐบาลไทยเปิดจำหน่ายปีละ 2 ครั้ง โดยทั่วไปจะประกาศในช่วงครึ่งแรกและครึ่งหลังของปีงบประมาณ ตัวอย่างเช่น ในปีงบประมาณ 2567 กระทรวงการคลังได้ประกาศจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ดังนี้

- ครั้งที่ 1 อายุพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อปี 3.0% และ 3.4% ประกาศจำหน่าย 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 สำหรับบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ในวันที่ 11 - 13 มีนาคม 2567 และช่วงที่ 2 สำหรับนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ในวันที่ 18 - 19 มีนาคม 2567
- ครั้งที่ 2 อายุพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อปี 3.0% และ 3.4% ประกาศจำหน่าย 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 สำหรับบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ในวันที่ 19 - 21 สิงหาคม 2567 และช่วงที่ 2 สำหรับนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ในวันที่ 26 - 27 สิงหาคม 2567

      สำหรับปีงบประมาณ 2568 กระทรวงการคลังได้ประกาศจำหน่าย พันธบัตรรัฐบาล เพื่อการบริหารหนี้ในครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา มีกำหนดการจำหน่ายพันธบัตรครั้งแรกของปีช่วงประมาณวันที่ 29 มกราคม 2568

คุณสมบัติผู้จองซื้อพันธบัตรรัฐบาล
ประชาชนทั่วไป
บุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยสามารถซื้อพันธบัตรได้ หากเป็นผู้เยาว์ที่อายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ผู้ปกครองต้องให้ความยินยอม
นิติบุคคลไม่แสวงหากำไร
นิติบุคคลกลุ่มนี้หมายถึงนิติบุคคลที่ดำเนินการโดยไม่แสวงหากำไร อย่างสมาคม มูลนิธิ สหกรณ์ วัด สภากาชาดไทย โรงเรียนรัฐบาล นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หรือนิติบุคคลอื่นที่จัดตั้งตามกฎหมายไทยและไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
ชาวต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
ชาวต่างชาติสามารถซื้อพันธบัตรของรัฐบาลไทยได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นชาวต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น โดยต้องใช้เอกสารสำเนาบัตรประจำตัวคนต่างด้าวและสำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีเงินฝาก ทำการซื้อขายที่สาขาของธนาคารเท่านั้น

         การลงทุนด้วยการซื้อ พันธบัตรออมทรัพย์ ของรัฐบาลเป็นการลงทุนความเสี่ยงต่ำ ได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการนำเงินเย็นมาลงทุน สามารถเลือกซื้อพันธบัตรได้ตั้งแต่ 1 - 10 ปี อย่างไรก็ตามหากใครไม่มีเวลาซื้อขายพันธบัตรด้วยตัวเอง แต่ยังต้องการนำเงินออมมาลงทุนให้งอกเงย ยังมีการลงทุนประเภทอื่นที่น่าสนใจอย่างการ ซื้อกองทุน รวม เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม เป็นต้น เหมาะสำหรับมือใหม่หรือผู้ไม่มีเวลาในการลงทุนด้วยตัวเอง ต้องการลงทุนโดยให้มืออาชีพช่วยบริหาร และยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย

          หากสนใจซื้อพันธบัตรออมทรัพย์กับธนาคารกรุงไทยสามารถดูรายละเอียดได้ ที่นี่ นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปดูทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากกรุงไทยได้ที่ https://krungthai.com/th/content/personal/investment/mutual-funds