รับยาที่ร้านยา : คุณค่าใหม่ของการดูแลในชุมชน

dsmol19

  • *****
  • 2408
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


จากนโยบาย “รับยาที่ร้านยา” ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยนานของผู้ป่วยที่โรงพยาบาล ซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบและดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายไปแล้วนั้น มีผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 1 ม.ค. 2564 โดยพบว่า มีผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาสะสม 29,299 คน จำนวนใบสั่งยาสะสม 54,730 ใบ มีโรงพยาบาลเข้าร่วม 141 แห่ง และร้านยา 1,081 แห่ง

จากการ “ประเมินผลโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ระยะที่ 2” ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยใช้เวลาสำหรับการรอรับยา ลดลงจาก 42นาที เหลือ 6 นาทีจากการรับยาที่ร้านยา นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดค่าเดินทางและค่าอาหารจากการไปรับยาที่ร้านยาได้เฉลี่ย 95 บาทต่อครั้งเมื่อเทียบกับการไปรับยาที่โรงพยาบาล รวมทั้งการรับยาที่ร้านยายังช่วยในเรื่องความสะดวกจากการนัดหมายเวลาไปรับยาได้ และเภสัชกรมีเวลาในการอธิบายการใช้ยาให้กับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
ร้านสมนึกเภสัช ใน อ.เมือง จ.ชลบุรี หนึ่งในร้านยาในโครงการนำร่องร่วมกับโรงพยาบาลชลบุรี ซึ่ง ภญ.สุณีรัตน์ กิตติคุณ เภสัชกรร้านยาสมนึกเภสัช ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ทางร้านร่วมโครงการรับยาที่ร้านยา ในรูปแบบที่ 1 ในช่วงตุลาคม 2562 โดยโรงพยาบาลจะจัดยาของผู้ป่วยแต่ละรายให้แก่ร้านยา และได้เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบที่ 3 คือ ร้านยาบริหารจัดการยาเอง ครอบคลุมทั้งด้านการคัดเลือกและจัดซื้อยา การสำรองยา การจัดเตรียมยาและจ่ายยา พร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยรายบุคคล โดยผู้ป่วยยังคงต้องเข้าพบแพทย์ที่ รพ. เพื่อรับการตรวจรักษาและสั่งยาเหมือนปกติ แต่ข้ามขั้นตอนรอรับยาที่ รพ. ไปรับยาที่ร้านยาที่กำหนดแทน ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองระบบตั้งแต่มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา

ภญ.สุณีรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มุมมองเภสัชกรร้านยาเรายินดีที่จะใช้วิชาชีพของเราช่วยเหลือรัฐและชุมชนแม้จะอยู่ร้านยาแต่เราไม่ใช่แค่คนที่ซื้อมาขายไป เราสามารถส่งมอบการใช้ยา และแนวทางการดูแลคนไข้ได้เต็มที่ เสมือนเป็นห้องยาเล็กๆของโรงพยาบาล ซึ่งค่าตอบแทนจากบริการ ถ้าเราจะคิดแค่ในเชิงธุรกิจก็ไม่ได้คุ้มค่ามาก แต่สิ่งที่เราคิดและได้คือความภูมิใจมากกว่า เพราะได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและระบบสุขภาพ

ปัจจุบัน จ.ชลบุรี มีผู้ป่วยร่วมโครงการประมาณ 800 ราย มีร้านยาเครือข่ายของ รพ.ชลบุรี 27 ร้าน ภญ.สุณีรัตน์ เล่าว่า ที่ร้านดูแลผู้ป่วยประมาณ 300 ราย ระยะแรกผู้ป่วยยังกังวลในบริการที่อาจไม่เหมือนโรงพยาบาล แต่สิ่งที่เภสัชกรของร้านมีให้ คือ ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยมารับยาแล้วเราบอกว่าต้องกินอย่างไร แต่ก่อนจ่ายยาเรามีการวัดความดัน ซักถามประเมินอาการ และที่เราให้มากกว่ายาคือ แนวทางปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น ลดผลไม้ที่ให้ค่าน้ำตาลสูง โดยทุกเดือนเราได้ติดตามผล เมื่อผู้ป่วยน้ำหนักลดลง ค่าน้ำตาลดี ความดันปกติเราก็รู้สึกสุขใจ เหมือนเป็นติวเตอร์ให้ผู้ป่วยที่ผู้ป่วยสามารถรับคำปรึกษาจากเภสัชได้นานขึ้น หรือกรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องกินยาทุกวัน ยาบางตัวอาจจะไม่เห็นผลทันที จึงทำให้ผู้ป่วยหยุดยาเอง ซึ่งอาจส่งผลกับการกำเริบของโรคและปริมาณยาที่เหลือเยอะขึ้น ซึ่งจะแนะนำให้กินยาต่อเนื่อง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หากหยุดยาจะเกิดอันตราย เช่นเกิดอัมพาตได้ กรณีแบบนี้เราต้องโทรไปติดตามการใช้ยาร่วมด้วย ความใกล้ชิดลักษณะนี้ ผู้ป่วยบางรายกล้าเปิดใจกับเรามากขึ้น เราจะเข้าใจปัจจัยต่างๆเกี่ยวกับผู้ป่วยซึ่งเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการใช้ยาและการดูแลรักษาโรคให้ดีขึ้นด้วย

นอกจากนั้น ในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ร้านยายังมีบทบาทสำคัญในเรื่องต่างๆ ซึ่งในเรื่องนี้ ภญ.สุณีรัตน์ กล่าวว่า “เนื่องจากชลบุรีเป็น 1 ใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ทางร้านยาของเราได้แจ้งความประสงค์สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยกระจายชุดตรวจโควิด ATK ตามนโยบายของ สปสช. ตั้งแต่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติ โดยในช่วง ส.ค.-ก.ย.นี้ เราพร้อมที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้ชุดตรวจ ตลอดจนการดูแลรักษาตัวที่บ้านอย่างเหมาะสม ทั้งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและพบว่าป่วยในกลุ่มสีเขียว”

สำหรับความสำเร็จโครงการนำร่องฯ ของ รพ.ชลบุรี ดร.พญ.สุชาดา อโณทยานนท์ รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลชลบุรี กล่าวถึงปัจจัยสำคัญว่ามาจาก 1.ภาคนโยบาย คือ กระทรวงสาธารณสุข ที่สนับสนุนการแก้ระเบียบที่เป็นข้อจำกัด, สปสช. สนับสนุนงบให้หน่วยบริการและร้านยา 2.ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ รพ.ชลบุรี กับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินจำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ เช่น กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือมีระดับอาการคงที่ ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์, การปรับปรุงระบบ IT เพื่อรองรับการปฏิบัติการ 3.ทีมหมอครอบครัว ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองชลบุรี เป็นทีมปฐมภูมิเชิงปฏิบัติการ ได้แก่ แพทย์ ที่ช่วยแนะนำผู้ป่วยร่วมโครงการและมีระบบรองรับช่วยเหลือหากเกิดปัญหาสุขภาพในการส่งต่อมาที่ รพ. สร้างความมั่นใจกับผู้ป่วย, ทีมสหวิชาชีพ เช่น พยาบาลคัดกรอง เภสัชกรช่วยจัดยา และทีมสนับสนุน/ประสานงาน 4.ร้านยาและเครือข่าย เช่น สภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน(ประเทศไทย) สมาคมร้านยารวมใจไทยภาคตะวันออก สมาคมเภสัชกรจังหวัดชลบุรี สมาคมผู้ประกอบการร้านยาจังหวัดชลบุรี รวมถึงกลุ่มเภสัชกรยังได้มีการเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อมีการขยายร้านยาในพื้นที่จะอบรมกันเองหรือช่วยประสานการทำงานที่ตอบสนองกับความต้องการของรัฐ เพื่อให้ระบบดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และ 5.ผู้ป่วยและครอบครัว เห็นถึงความสำคัญโครงการ ตลอดจนชี้แนะจุดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้การดำเนินงานราบรื่นถึงปัจจุบัน

ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวสรุปทิ้งท้ายในเรื่องนี้ไว้ว่า งานวิจัยนี้เป็นวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ข้อเสนอแนะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายนำไปใช้ในการออกแบบระบบบริการด้านยา ที่แยกการจ่ายยาของเภสัชกรออกจากการสั่งยาของแพทย์ ลดความแออัดในโรงเพยาบาล ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับบริการและการดูแลการใช้ยาอย่างมีคุณภาพ ลดปริมาณความสูญเสียที่เกิดจากยาเหลือใช้ได้ ที่สำคัญผู้ให้บริการ คือโรงพยาบาล ได้ทำงานเป็นทีมร่วมกับร้านยา มีเภสัชกรจากร้านยาช่วยทำงานดูแลผู้ป่วยเพิ่ม โดยที่โรงพยาบาลไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจ้างเภสัชกร เภสัชกรโรงพยาบาลมีเวลามากขึ้นในการดูแลผู้ป่วยที่ยังจำเป็นต้องใช้ยาในโรงพยาบาล ด้านผู้ให้บริการ คือเภสัชกรร้านยา ได้ใช้ความรู้ดูแลผู้ป่วยหรือชุมชนบ้านเกิดไปพร้อมกัน

นับเป็นแนวทางให้กับผู้กำหนดนโยบายสำหรับนำไปพิจารณาขยายและพัฒนาโครงการต่อไป หรือส่งต่อตัวอย่างดำเนินการให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ เพื่อนำไปปรับใช้ โดยเฉพาะด้านการบริการจากร้านยาชุมชนโดยเภสัชกรที่ให้มากกว่ายา คือ “หัวใจของการดูแล” รวมทั้งยังสามารถปรับประยุกต์การดำเนินงานรับยาที่ร้านยาให้เป็นประโยชน์กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นช่องทางใหม่ในการดูแลสุขภาพของชุมชน