'แอดไวซ์' ไร้แผลพิษล็อคดาวน์ เผย "สินค้าขาดตลาด" กรีดลึกกว่า (Cyber Weekend)


     


แอดไวซ์ (Advice) ระบุทิศทางตลาดสินค้าไอทีไทยครึ่งหลังปี 64 ประเมินยากเพราะความต้องการเกิดมากสวนทางอุปทานขาดแคลน สุดเซ็งสั่งสินค้าไป 1,000 ได้มาขายแค่ 300 โดยเฉพาะเครื่องพิมพ์ที่ขาดหนักทั้งตัวเครื่องและหมึก 

"จักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด ระบุว่าภาวะสินค้ากลุ่มเครื่องพิมพ์ขาดตลาดนี้เกิดจากระดับโรงงาน ต้นเหตุหลักไม่ได้มาจากการเปลี่ยนเกมลงมาขายออนไลน์เองของเวนเดอร์ ซึ่งดิสทริบิวเตอร์อย่างแอดไวซ์เองก็ต้องพยายามลงทุนในมิติออนไลน์ และเดินหน้าสู้ด้วยสาขาเพื่อสร้างความแตกต่าง

วันนี้ แอดไวซ์นิยามตัวเองเป็นศูนย์รวมอุปกรณ์ไอทีครบวงจรที่มีสาขาครอบคลุมกว่า 350 สาขาทั่วประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาขาที่แข็งแกร่งทำให้ ‘พิษล็อคดาวน์" ไม่ระคายเคืองผิวแอดไวซ์ เพราะบริษัทมีประสบการณ์เคยรับมือมาในปีก่อน บวกกับมีสาขาในห้างจำนวนไม่มาก เบื้องต้นไม่มีแผนปิดสาขาถาวรช่วงโควิด-19 มีแต่นโยบายขยายพื้นที่ รวมถึงการรับช่วงนำโชว์รูมรถมาพัฒนาเป็นสาขาที่มีศูนย์บริการและห้องอบรมสอนโซลูชันพัฒนาธุรกิจแบบครบวงจร 

***ไอทีปี 64 ยังต้องลุ้น

ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจไอที แอดไวซ์มองว่าการล็อคดาวน์จะมีผลกับตลาดครึ่งหลังปี 64 ในลักษณะคล้ายกับช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 63 การรับมือจึงไม่แตกต่างกันมาก แม้จะมีความท้าทายในภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกนี้ มีแนวโน้มส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจมากกว่าเดิม


"การ work หรือ learn from home นั้นต้องทำบนสินค้าไอที ทั้งเดสก์ท็อป โน้ตบุ๊ก และแท็บเล็ต สถานการณ์นี้ทำให้ปีที่แล้วตลาดเติบโตสูงจากปกติยอดขาย 2 พันล้านยูนิตกลายเป็น 3 พันกว่าล้านยูนิต ดีมานด์ที่เกิดมากเช่นนี้ทำให้ของขาดตลาด ดังนั้น อัตราเติบโตของแอดไวซ์จึงไม่สะท้อนกับความจริงเพราะติดเรื่องซัปพลาย ตอนนี้ซัปพลายขาด อะไรที่วางแผนสั่งไปก็ถูกเวนเดอร์ปรับลดหมด สั่งไป 1,000 ได้มา 300 เราเลยมองไม่ได้”



จักรกฤชย้ำว่าสถานการณ์สินค้าไอทีไทยขาดตลาดวันนี้ยังอยู่ในระดับควบคุมไม่ได้ และดิสทริบิวเตอร์ต้องรับข้อมูลจากเวนเดอร์หรือพาร์ทเนอร์เป็นรายสัปดาห์ ทั้งหมดนี้ทำให้เชื่อว่าแอดไวซ์น่าจะเติบโตกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

"ไม่ใช่เติบโตจากปีที่แล้ว ทั้งหมดเพราะซัปพลายไม่พร้อม"

หากไม่มีปัญหาสินค้าขาดตลาด จักรกฤชเชื่อว่าการเติบโตของแอดไวซ์จะมากกว่า 10% ที่ตั้งเป้าหมายไว้ สถานการณ์นี้ทำให้ทิศทางธุรกิจแอดไวซ์ในครึ่งหลังปี 2564 ต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งการปรับรูปแบบการดำเนินงาน การทำตลาดและการให้บริการ จากเชิงรับเป็นเชิงรุกมากขึ้น พร้อมมุ่งเน้นการทำตลาดออนไลน์ โดยเฉพาะส่วนของช่องทางหลักอย่างอี-คอมเมิร์ซ ที่แอดไวซ์ได้ขยายช่องทางในส่วนของมาร์เก็ตเพลส และโซเชียลคอมเมิร์ซ เพิ่มเติม


จักรกฤชประเมินว่าปี 2566 ตลาดรวมไอทีประเทศไทยอาจจะมีสัดส่วนยอดขายออนไลน์ 50% เพิ่มจากปัจจุบันที่มีราว 20% ปัจจัยผลักดันคือทุกคนถูกสถานการณ์ทำให้ต้องทำรายการต่าง ๆ ผ่านออนไลน์ ทั้งหมดเกิดบนความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระบบชำระเงินที่ปลอดภัยสูงขึ้น ทำให้คนไทยรู้ว่าการทำธุรกรรมออนไลน์ไม่ยากและน่าเชื่อถือ ความเสี่ยงได้รับสินค้าไม่มีคุณภาพนั้นลดลง เชื่อว่าตลาดออนไลน์ไทยในส่วนที่เป็นสินค้าเทคโนโลยีจะขยับขยายใหญ่ขึ้นต่อเนื่อง

ในส่วนของแอดไวซ์ สัดส่วนการขายออนไลน์ก็เติบโตมาตลอด ภาวะนี้ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้แอดไวซ์ไม่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์จังหวัดสีแดงเข้มช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดย 2 เหตุผลหลักคือจำนวนสาขาแอดไวซ์บนห้างสรรพสินค้ามีจำนวนไม่มากและการมีประสบการณ์จากปีที่แล้ว ทำให้แม้ห้างจะปิด แต่ก็ไปเปิดสาขาใหม่ได้เร็ว เบ็ดเสร็จแล้วเมื่อเทียบจำนวนสาขาที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนสาขาทั้งหมด นับว่าเป็นเพียงแค่ 10% ของสาขาทั้งหมดเท่านั้น

"ทีมแอดไวซ์มีประสบการณ์ทำ PR ให้ลูกค้ารับรู้เร็วว่ามีการเปิดสาขาใหม่ อย่างเช่น สระบุรีที่ห้างปิด เราใช้เวลา 3 วันทำการเปิดสาขาใหม่ได้เลย ประสบการณ์ปีที่แล้วทำให้เราพร้อม"

เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามสถานการณ์ปัจจุบัน แอดไวซ์ต้องปรับปรุงการดำเนินงานและบริหารจัดการหลายด้าน ที่เห็นชัดคือการเพิ่มความสะดวกที่สาขา ด้วยบริการ Advice 3D ให้ลูกค้าไดร์ฟทรูที่สาขาสแตนอโลน, เดลิเวอรี่จัดส่งถึงบ้าน และบริการดูแลหลังการขายแบบเคาะประตูบ้าน ‘Advice Dee Dee Onsite Claim & Service" ที่เปิดตัวมาแล้วก่อนหน้านี้

วันนี้สาขาของแอดไวซ์ที่ยังคงเปิดให้บริการตามปกติมีจำนวนกว่า 300 สาขา ส่วนใหญ่เป็นร้านสแตนอโลนที่ไม่ได้ตั้งบนห้าง ร้านสาขาทั้งหมดถูกแอดไวซ์วางจุดยืนเป็นกลยุทธ์สำคัญแบบครบวงจรในระยะยาว



***สู้ด้วยสาขา

ลูกค้าองค์กรหรือตลาดคอมเมอร์เชียลจะเป็นโฟกัสที่แอดไวซ์ให้ความสำคัญมากขึ้นในปีนี้ โดยมีสาขาเป็นเครื่องมือในการเปิดตลาดโซลูชัน ทั้งระบบ POS สำหรับติดตั้งในจุดชำระเงินของร้านกาแฟหรือร้านค้าขนาดเล็กของเอสเอ็มอี และระบบห้องเรียนอัจฉริยะซึ่งสอดคล้องกับความพยายามของแอดไวซ์ ที่เน้นเพิ่มสินค้าใหม่ตามเทรนด์ตลาด และเดินหน้าวางจำหน่ายสินค้าอื่นที่นอกเหนือจากคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก พีซี หรืออุปกรณ์ DIY

"แอดไวซ์ไม่มีแผนลดสาขาเพราะโควิด-19 แต่ลดสาขาเฉพาะที่ไม่สามารถทำกำไรได้ และมีแผนขยายสาขาในบางจังหวัด" จักรกฤชระบุ "เมื่อห้างปิด เราทำอะไรไม่ได้ ไม่มีการปิดถาวร แต่ปิดเพราะห้างปิดทำการและศูนย์ไอทีบางจังหวัดปิด"



หนึ่งในไฮไลท์เรื่องการขยายสาขาของแอดไวซ์คือนโยบายตั้งสาขาสแตนอโลน ซึ่งแอดไวซ์ย้ำว่าเกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ชินกับการจอดรถที่ร้านหรือการเดินทางที่ไม่ยุ่งยากเหมือนในจังหวัดใหญ่ สิ่งที่แอดไวซ์จะยังทำต่อในยุคหลังโควิด-19 คือการขยายขนาดสาขาที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ค้าปลีก 
เพื่อให้รองรับงานแสดงสินค้าได้มากขึ้น แอดไวซ์ย้ำว่าจำเป็นต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่เหมือนโชว์รูมรถ ซึ่งจะสามารถแบ่งส่วนได้ครบทั้งการแสดงสินค้าและโซลูชัน รวมถึงมีเซอร์วิสได้เต็มรูปแบบ เป็นสาขาที่ให้บริการครบวงจรที่แอดไวซ์จะขยับไปลูกค้าองค์กรและราชการมากขึ้นในจังหวัดพื้นที่ไม่ใหญ่อย่างเช่นศรีสะเกษ เพราะสาขาขนาดใหญ่จะทำให้มีพื้นที่สาธิตหรืออบรมโซลูชันโดยร่วมมือกับเวนเดอร์เพื่อให้ลูกค้าองค์กรเห็นภาพจริง ซึ่งจะตอบลูกค้ากลุ่มนี้ในพื้นที่นอกกทม. ได้

"เรารับช่วงโชว์รูมรถมาทำ เราเน้นขยายขนาดและตอนนี้ใช้เวลาปรับแก้ที่หนองคาย อุดรฯ เชียงใหม่ และศรีสะเกษ ทำไปเรื่อยๆ เร็วๆนี้คือโคราชที่สาขาเป็นไซซ์โชว์รูม" จักรกฤชเผย "สาขาจะไม่เน้นแสดงสินค้าอย่างเดียว แต่จะเป็นจุดให้ความรู้ และช่วยลูกค้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่การขายสินค้าไอทีจำเป็นต้องมี"

วันนี้ สัดส่วนของกลุ่มลูกค้าแอดไวซ์แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือค้าปลีก 60% และค้าส่ง 40% ตลาดคอมเมอร์เชียลมีสัดส่วนรวม 3% จากนี้ไป คอมเมอร์เชียลจะเป็นโฟกัสที่แอดไวซ์ให้ความสำคัญ หลังจากที่ผ่านมาบริษัทเพิ่งเริ่มขยายทำตลาดในกลุ่มนี้เมื่อปี 62 ถือว่ามีการเติบโตถึง 100%

การเปิดสาขาใหม่ในครึ่งแรกปี 64 ยังดำเนินการตามแผนงานที่แอดไวซ์วางไว้ สาขาที่เปิดอยู่ในจังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดชัยนาท และในกรุงเทพฯ มี 2 แห่ง ได้แก่ สาขาในไทวัสดุ บางนา และสาขาเซ็นทรัลพระรามสอง ที่วางกำหนดว่าหากสถานการณ์โควิดดีขึ้น ก็จะเปิดทำการได้ในเดือนก.ย. 64

ปีที่ผ่านมา สินค้าขายดีของแอดไวซ์ยังเป็นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและเดสก์ท็อปที่เป็นแบรนด์ รองลงมาคืออุปกรณ์ DIY โดยเฉพาะการ์ดจอที่ราคาพุ่งสูงจนทำกำไรก้าวกระโดดให้แอดไวซ์ในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งสองส่วนคิดเป็น 60% ของรายได้แอดไวซ์ นอกนั้นเป็นสินค้ากลุ่มเครื่องพิมพ์และสินค้าอื่นที่จำหน่ายได้จำนวนมากแต่มูลค่าต่อชิ้นไม่สูง เช่น เมมโมรี่การ์ด แรม และเราท์เตอร์

สำหรับอนาคต แอดไวซ์มองว่าหากวิกฤติโควิด-19 ยังไม่หมดไป บริษัทก็มั่นใจว่าจะยังมีรายได้มารองรับและจะเดินหน้าพัฒนากลยุทธ์การขายออนไลน์คู่ไปด้วย รวมถึงการขยับมาทำตลาดกับมาร์เก็ตเพลส เพื่อขยายลูกค้าในแนวกว้างให้มากขึ้น และเพิ่มสินค้าบางกลุ่มที่แอดไวซ์ยังไม่เคยเริ่มทำ

ถึงวันนั้น ขออย่าให้มีพิษ "สินค้าขาดตลาด" อีกก็แล้วกัน.