พณ.แจ้งจับ 11 รายโก่งขายฟ้าทะลายโจร-ชุดตรวจโควิด

hs8jai

  • *****
  • 1341
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า ที่ประชุม กกร.ได้มีการดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายยาฟ้าทะลายโจรผ่านออนไลน์ที่เข้าข่ายการค้ากำไรเกินควร และดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายชุดตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตัวเอง (ATK) ที่เข้าข่ายการค้ากำไรเกินควร


โดยกรณีแรก การดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายฟ้าทะลายโจร ผ่านระบบออนไลน์หรือผ่านแพลตฟอร์มที่เข้าข่ายการค้ากำไรเกินควร โดยกรมการค้าภายในได้ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีผู้ที่ขายฟ้าทะลายโจรผ่าน 2 แพลตฟอร์ม คือ Lazada และ Shopee จำนวน 10 ราย 3 ยี่ห้อ 1.ยี่ห้ออภัยภูเบศร โดยพฤติการณ์เป็นนำฟ้าทะลายโจรยี่ห้ออภัยภูเบศรไปค้ากำไรเกินควร 8 ราย เป็นฟ้าทะลายโจรขนาดบรรจุ 60 แคปซูล ซึ่งราคาแนะนำที่ผู้ผลิตแจ้งกับกรมการค้าภายในจำหน่ายในราคา 80 บาท มีผู้นำไปขายผ่านแพลตฟอร์มในราคาขวดละ 349-450 บาท แพงกว่าราคาที่แจ้งไว้ถึง 336-463% 2.ยี่ห้อใบห่อ ขนาดบรรจุ 70 แคปซูล ราคาแนะนำ 25 บาท ขายบนแพลตฟอร์ม Lazada 119 บาท สูงกว่าราคาที่แจ้งไว้ 376% จำนวน 1 ราย 3.ยี่ห้อไฟโตแคร์ ขายบนแพลตฟอร์ม Shopee ขนาดบรรจุ 100 เม็ด ราคาที่กำหนดไว้ 180 บาท ขายผ่าน Shopee 490 บาท สูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น 172% รวม 10 ราย

โดยการกระทำดังกล่าว เป็นการเข้าข่ายค้ากำไรเกินควร ผิดมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เจ้าหน้าที่ของกรมการค้าภายใน ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) จะร่วมกันดำเนินคดีทั้งการดำเนินคดีกับผู้จำหน่าย และดำเนินคดีกับผู้มีอำนาจตามกฎหมายของแพลตฟอร์ม Lazada และ Shopee ด้วย

ส่วนกรณีที่สอง การดำเนินคดีกรณีนำชุดตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเอง (ATK) ที่กระทรวงสาธารณสุขให้จำหน่ายได้ในร้านขายยาที่มีเภสัชชกรควบคุมนั้น ไปจำหน่ายในร้านขายยาแห่งหนึ่งที่เข้าข่ายการค้ากำไรเกินควรที่ราคาแนะนำ 350 บาท ที่เป็นราคาที่ผู้นำเข้าแจ้งกับกรมการค้าภายในไว้ โดยนำไปขายในราคา 450 บาท สูงกว่าที่ควรจะเป็น 29% ถือว่าผิดตามมาตรา 29 จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งพบว่าเป็นร้านขายยาแถวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้มีการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ส.ค.64

ทั้งนี้ที่ประชุม กกร. มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นรองประธาน เลขาธิการสำนักงาสคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และผู้บังคับการตำรวจ ปคบ. เป็นกรรมการ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์แนวทาง และมาตรการในการกำกับดูแลการจำหน่าย ATK ที่ใช้กับตนเองหรือแบบ Home use ให้เป็นทำตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการต่อไป

นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า ในการจำหน่ายยาฟ้าทะลายโจร และ ATK ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบราคาราคาแนะนำหรืออ้างอิงการจำหน่ายปลีกแต่ละชนิดได้จากการประกาศที่เว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน www.dit.go.th โดยกองจัดระบบราคาและปริมาณสินค้า กรมการค้าภายใน ได้ลงประกาศไว้ตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.64


รายงานกรมการค้าภายในระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องโดยใช้กฎหมาย หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่มีอยู่นั่นคือมาตรา 28 เกี่ยวกับการแสดงหรือปิดป้ายราคาสินค้า และมาตรา 29 เกี่ยวกับการขายเกินราคา ขายเกินราคาที่สมควร และเกิดความปั่นป่วนทางราคา ซึ่งการดูแลความเป็นธรรมการจำหน่ายชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ Covid-19 นั้น ก่อนหน้านี้กรมการค้าภายใน ได้ทำความเข้าใจและขอความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ให้มีการจำหน่ายที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากชุดตรวจที่ใช้กับตนเอง หรือ Home use นั้น จะต้องได้รับคำปรึกษาจากเภสัชกรเท่านั้น ซึ่งจะมีการจำหน่ายได้ 3 ช่องทางคือ สถานพยาบาล,หน่วยงานของรัฐ และร้านขายยาที่มีเภสัชกรให้คำแนะนำ ดังนั้น การจำหน่ายออนไลน์ถือว่าผิดกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.และเป็นชนิดที่แตกต่างจากแบบ Professional use และกระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นว่า ATK เป็นเวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรคตามประกาศ กกร.ฉบับที่ 8 พ.ศ.2564 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2564

รายงานระบุด้วยว่า ด้านคุณสมบัติและเทคนิค ATK ชุดตรวจแบบใช้กับตนเองนั้น แต่ละผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างกัน ทั้งเทคนิค วัสดุ ประสิทธิภาพของน้ำยา รวมถึงระยะเวลาการแสดงผลการตรวจ ส่วนการขึ้นทะเบียนชุดตรวจกับนั้นขึ้นกับ อย. กระทรวงสาธารณสุข โดยพิจารณาจากการผ่านมาตรฐานการตรวจสอบความแม่นยำเท่านั้น สำหรับด้านปริมาณชุดตรวจแบบใช้กับตนเองนี้เป็นสินค้าต้องนำเข้าเกือบ 100% สำหรับการคิดต้นทุนและราคาจะพิจารณาจากปริมาณการสั่งซื้อ แหล่งที่มา ยี่ห้อผลิตภัณฑ์ ค่าบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้านการตลาดเป็นต้น

ทั้งนี้กรมการค้าภายในได้ให้ทางผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ค้าส่งแจ้งรายละเอียดทั้งกำลังการผลิต จำนวน ปริมาณ ราคาต้นทุน รายละเอียดตามกฎหมาย ทั้งนี้เมื่อมีประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมร้องเรียนมา ก็จะได้มีการสืบสวนสอบสวนราคา เพื่อปฏิบัติตามกฏหมายมาตรา 28 และ 29 ของ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ต่อไป