ปตท.หนุนรัฐสู้วิกฤติโควิด ตั้งจุดคัดกรองเปิด รพ.สนาม ครบวงจร

Joe524

  • *****
  • 2200
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 ถึงวันที่ 10 ส.ค.2564 รวม 767,088 ราย และมผู้ป่วยที่กำลังรักษา 211,223 ราย 

ในขณะที่จำนวนเตียงที่รองรับการรักษาข้อมูลล่าสุดวันที่ 4 ส.ค.2564 ทั่วประเทศมีเตียง 197,837 ราย ใช้ไปแล้ว 151,103 เตียง คิดเป็น 76.38% และมีเตียงว่าง 46,516 เตียง แบ่งเป็นเตียงว่างในกรุงเทพฯ 5,331 เตียง และในต่างจังหวัด (รวมปริมณฑล) 41,185 เตียง ซึ่งขณะนี้สถานการณ์เตียงในระบบสาธารณสุขจึงน่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดหน่วยคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) ในโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” ของกลุ่ม ปตท. วันที่ 11 ส.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้าร่วม

รายงานข่าวจาก ปตท.ระบุว่า กลุ่ม ปตท.ได้จัดตั้ง “โครงการลมหายใจเดียวกัน” เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ของประเทศ ร่วมเป็นพลังต่อลมหายใจของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไป โดยในระยะแรกได้เร่งส่งมอบเครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง พร้อมสนับสนุนออกซิเจนเหลวแก่โรงพยาบาลในพื้นที่วิกฤติ และมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อใช้ในการรักษาอาการผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัดรวมกว่า 200 แห่ง ทั่วประเทศ

รวมทั้งในระยะต่อมาได้สนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดหน่วยวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกใน 4 พื้นที่เปราะบางและมีความเสี่ยงสูง รวมถึงเดินหน้าโครงการ Restart Thailand ต่อเนื่องทำให้มีอัตราการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 25,000 อัตรา ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน กลุ่ม ปตท.ได้สนับสนุนความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในภาวะวิกฤติโควิด-19 แล้วรวมเป็นงบประมาณจำนวนกว่า 1,700 ล้านบาท

ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันยังไม่คลี่คลาย และมีผู้ป่วยหนักสูงขึ้น ซึ่งกลุ่ม ปตท.มีแผนช่วยเหลือประชาชนและแบ่งเบาภาระภาครัฐ โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และพันธมิตรทางการแพทย์ จัดตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจรแบบ End-to-End ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่ยังคงมีตัวเลขที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิต ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เร็วที่สุด



สำหรับหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) วางแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งเน้น “ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” ซึ่งจะเป็นการตรวจรักษาแบบครบวงจรแห่งแรกที่เอกชนร่วมกับภาครัฐ ประกอบด้วย 4 จุดหลัก ได้แก่

จุดที่ 1 หน่วยคัดกรอง โครงการลมหายใจเดียวกัน ณ อาคาร Energy Terminal (Enter) ของบริษัทเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด กลุ่ม ปตท. ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เพื่อเป็นจุดคัดกรองสำหรับกลุ่มเสี่ยง โดยวางระบบดิจิทัลเพื่อลงทะเบียน และเริ่มจากการตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Antigen test kit และหากพบว่ามีการเสี่ยงติดเชื้อ จะนำส่งตรวจ RT-PCR 

สำหรับผู้ป่วยระดับสีเขียวที่ตรวจพบสามารถทำการดูแลตนเองเบื้องต้นที่บ้านหรือในชุมชน (Home or Community Isolation) โดยจะได้รับมอบ “กล่องพลังใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน” ประกอบไปด้วยชุดอุปกรณ์การทางแพทย์และยาที่จำเป็น รวมทั้งระบบติดตามอาการ

สร้างโรงพยาบาลสนามพันเตียง

จุดที่ 2 , 3 และ 4 จัดเตรียมเป็นโรงพยาบาลสนามครบวงจร โครงการลมหายใจเดียวกัน เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ตามระดับความรุนแรง โดยโรงพยาบาลสนามครบวงจรแห่งนี้ นับเป็นการระดมกำลังของกลุ่ม ปตท.ทุกด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หวังแบ่งเบาภาระและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเตียงในกรุงเทพฯ โดยแบ่งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ดังนี้

1.โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยระดับสีเขียว เปิดให้บริการในรูปแบบของ Hospitel กระจายไปในหลายโรงแรม จำนวน 1,000 เตียง รองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากหน่วยคัดกรองอย่างเป็นระบบ

2.โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยระดับสีเหลือง ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการในระดับหนักขึ้น เปิดให้บริการ ณ โรงแรมเดอะบาซาร์ กรุงเทพ มีเตียงผู้ป่วยจำนวน 300 เตียง มีระบบไฮโดรเจน ต่อ Direct Tube ส่งตรงถึงทุกเตียงผู้ป่วย 

พร้อมทั้งมีเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. เพื่อให้การดูแลคนไข้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ เตียงพลาสติกรับน้ำหนักสูง หุ่นยนต์ ปิ่นโต เป็นหุ่นยนต์ลำเลียงเพื่อช่วยบุคคลากรทางการแพทย์ในการดูแลคนไข้ รวมถึงหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ Xterlizer UV Robot

3.โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยระดับสีแดง โดยจัดสร้างโรงพยาบาลสนาม ICU บนพื้นที่ 4 ไร่ สำหรับผู้ป่วยจำนวน 120 เตียง ให้บริการสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โดยปรับพื้นที่โล่งของโรงพยาบาลปิยะเวทเป็นสถานที่ก่อตั้ง โดยจัดทำห้องรักษาความดันลบแยกรายผู้ป่วย ห้องละ 1 เตียง ซึ่งเป็นครั้งแรกของโรงพยาบาลสนามในประเทศ พร้อมระบบ Direct Tube ส่งท่อออกซิเจนตรงทุกห้องผู้ป่วย และมีการติดตั้งถังออกซิเจนเหลวขนาด 10,000 ลิตรพร้อมห้องฉุกเฉินให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง