ภาคการผลิตสู่Smart Factory ท่ามกลางวิกฤติโควิด

PostDD

  • *****
  • 1298
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศที่ยังน่าเป็นห่วง อีกทั้ง คลัสเตอร์โรงงานกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงที่พบผู้ติดเชื้อใหม่อย่างต่อเนื่องส่งผลให้หลายโรงงานต้องปิดดำเนินการชั่วคราวและกระทบการผลิตในทันที

ความจำเป็นในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตและแรงกดดันจากผลกระทบวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นได้กระตุ้นให้ผู้ประกอบการในภาคการผลิตมีการตื่นตัวในการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในสายการผลิตสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart factory) โดยเฉพาะระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและลดการพึ่งพาแรงงานคน

 โดยในช่วงเวลา 5 ปีก่อนวิกฤติโควิด (2016-2019) มูลค่าการนำเข้าระบบอัตโนมัติสำหรับการผลิตและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของไทยเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2% ต่อปี ซึ่งสาเหตุหนึ่งเป็นผลจากการใช้เทคโนโลยีที่กระจุกตัวอยู่ในโรงงานขนาดใหญ่หรือโรงงานที่ตั้งโดยนักลงทุนต่างชาติเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง อีกทั้ง ผู้ประกอบการไทยยังมีความกังวลในความพร้อมของระบบอัตโนมัติและทักษะของบุคลากร แต่หลังจากที่ภาคการผลิตในไทยต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านแรงงานจากผลกระทบของวิกฤตโควิดตั้งแต่เดือนมี.ค. 2020 เป็นต้นมา มูลค่าการนำเข้าระบบอัตโนมัติสำหรับการผลิตและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเติบโตกว่า 7%YOY จาก 1.72 พันล้านบาทในปี 2019 เป็น 1.84 พันล้านบาทในปี 2020 และการนำเข้าเติบโตอย่างก้าวกระโดดกว่า 40%YOY

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2021 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2020 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีการนำเข้าระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งการเติบโตดังกล่าวสะท้อนถึงการตื่นตัวของภาคการผลิตในไทยที่เห็นความสำคัญของ Smart factory มากขึ้น เพื่อฝ่าวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่และให้การผลิตเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความมั่นใจในการใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างเทคโนโลยี 5G ได้ครอบคลุมพื้นที่ใช้งานใน EEC 100% แล้ว รวมถึงผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งมีการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแบบสาย (FTTx) และจัดตั้งศูนย์ Data center ในพื้นที่โครงการพร้อมรองรับการใช้งานในระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ทันสมัย


แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกต่อการปรับเปลี่ยนภาคการผลิตสู่การเป็น Smart factory รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยมีความพร้อมรองรับการใช้งานเทคโนโลยี แต่การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล และการกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุนด้านดิจิทัลของผู้ประกอบการไทยให้มากขึ้นยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนา ด้วยจำนวนแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลของไทยมีไม่มากนักในปัจจุบัน 

โดยจากรายงาน Future of Jobs ของ World Economic Forum พบว่ามีเพียง 55% ของแรงงานไทยที่มีทักษะด้านดิจิทัล ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดการยกระดับทักษะแรงงานให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอยู่เสมอและการผลิตแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลอย่างจริงจังอาจต้องเร่งดำเนินการเพื่อรองรับความต้องการแรงงานเหล่านี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ การสร้างแรงจูงใจในการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของผู้ประกอบการไทยยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐในการลดภาระการลงทุนเพื่อดึงดูดความต้องการใช้งาน รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเห็นประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการใช้งานจริง ซึ่งการยกระดับภาคการผลิตของไทยสู่โรงงานอัจฉริยะนั้น นอกจากจะทำให้เกิดการรับรู้ถึงการปรับตัวของภาคการผลิตในไทยเพื่อฝ่าวิกฤติโควิดแล้ว ยังสะท้อนถึงความพร้อมของไทยในการรองรับการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทคในอนาคตได้อีกด้วย