เชื่อมั่นรัฐบาลแค่ไหน รับมือเศรษฐกิจถดถอย

Shopd2

  • *****
  • 2893
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ติดลบต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง โดยจีดีพีในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ติดลบถึง 12.2% ถึงแม้ว่าหลังจากนั้นเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่ดีขึ้นเกือบอยู่ในระดับปกติ แต่การระบาดระลอกที่ 2 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ต่อด้วยการระบาดระลอกที่ 3 นับตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีความรุนแรงมากขึ้นจนการระบาดระลอกนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมถึงวันที่ 8 ส.ค.2564 มีจำนวนถึง 727,642 คน

สถานการณ์ที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องทำให้รัฐบาลประกาศขยายพื้นที่กึ่งล็อกดาวน์จาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด พร้อมกับการเตรียมงบประมาณสำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก 30,000 ล้านบาท เป็น 60,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่มีโอกาสถดถอย และทำให้บางองค์กรเริ่มปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 เป็นติดลบแล้ว นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงมาก ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลต้องเตรียมรับมือให้ได้

หากดูประสิทธิภาพการบริหารจัดการในสถานการณ์วิกฤติของรัฐบาลอาจทำให้มีความเชื่อมั่นลดลงต่อการรับมือภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งที่ผ่านมามีการตัดสินใจที่ผิดพลาดในหลายประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะความผิดพลาดในการจัดหาวัคซีนที่หลายประเทศวางแผนอย่างเข้มข้นในช่วงครึ่งหลังปี 2563 ที่จะจัดหาวัคซีนมาให้เพียงพอ ในขณะที่ประเทศไทยจัดหาวัคซีนได้ล่าช้าและปฏิเสธการพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอของหลายฝ่ายที่เสนอแนวทางการเร่งนำเข้าวัคซีน

ประเทศไทยในขณะนี้จึงตกอยู่ในสถานการณ์ขาดแคลนทั้งงบประมาณดำเนินการทำให้ต้องกู้เงินมาบริหารภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งขาดแคลนวัคซีนและอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อ โดยถ้ามองย้อนไปปลายปี 2563 คงไม่มีใครคิดว่าประเทศไทยจะตกอยู่ในสถานการณ์นี้ ดังนั้นสิ่งสำคัญประการหนึ่งในการบริหารบนสถานการณ์ฉุกเฉิน คือ สมมติฐานในกรณีเลวร้ายที่สุดอย่าเพิ่งรีบตัดออกไป เพราะมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอหากสถานการณ์ยังไม่จบ

ลำพังการนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติการระบาดระลอกใหม่นี้ดูเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญสำหรับรัฐบาลปัจจุบัน และเมื่อมาเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงแล้วรัฐบาลจะนำพาประเทศให้พ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาการจัดหาวัคซีนที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการควบคุมการระบาดยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เมื่อใด รัฐบาลควรตระหนักถึงโอกาสที่ได้รับจากประชาชนแล้วใช้โอกาสที่ได้รับเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติให้ดีกว่านี้