'จดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์' สิ่งสำคัญร้านค้าออนไลน์ต้องรู้

PostDD

  • *****
  • 1298
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


ปฏิเสธไม่ได้ว่าความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญของ "ร้านค้าออนไลน์" พ่อค้าแม่ค้าในแวดวงออนไลน์จึงต้องศึกษาหาข้อมูลทั้งในแง่กลยุทธ์การขาย การบริการ ช่องทางการขาย วิธีโปรโมทร้าน รวมถึงวิธีส่งเสริมความน่าเชื่อถือทางด้านกฎหมายด้วย ซึ่งหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องรู้คือ "จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์"

ทำไม? ต้อง “จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์”
มีข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้น ก็เพื่อให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ จากการมีสถานะตัวตนทางกฎหมาย และเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำธุรกรรมกับหน่วยงานต่างๆ อีกทั้งยังจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอาศัยอำนาจตามกฎหมายทะเบียนพาณิชย์ กำหนดให้ผู้ขายสินค้าหรือบริการทางอินเทอร์เน็ต ทั้งเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์หรือ Social Media ต้องจดทะเบียนพาณิชย์การประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ประกอบการแสดงตนอย่างเปิดเผยต่อทางราชการ


ประโยชน์ของการ “จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์”
นอกจากการจดทะเบียนฯ จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจแล้ว ยังมีประโยชน์อื่นๆ ต่ออาชีพ "ขายออนไลน์" ด้วย  ได้แก่

1. หลังจดทะเบียนฯ เจ้าของธุรกิจจะมีสิทธิ์ในการเข้ารับการอบรม ตามหลักสูตรที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนด ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจ การบริหารร้านค้า เรียนรู้เทคนิคการตลาดแบบไม่มีค่าใช้จ่าย

2. ช่วยสร้างเครดิตให้กับ “ร้านค้าออนไลน์” ในสายตาของสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการขอสินเชื่อเงินกู้ ยื่นขอกู้เงินทุนหมุนเวียน หรือแม้แต่การขอสินเชื่อเรื่องอื่นๆ ก็สามารถใช้ทะเบียนร้านค้าพาณิชย์เป็นหลักฐานประกอบการยื่นเอกสารทางการเงินได้เช่นกัน

3. ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐเก็บข้อมูลสถิติร้านค้าออนไลน์ได้ง่ายขึ้น รัฐจะได้สามารถดำเนินการตามนโยบายทางเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน, การช่วยเหลือผู้ประกอบการ, การสนับสนุนธุรกิจออนไลน์, การลงทุนต่างประเทศ ฯลฯ


หากไม่ “จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” มีสิทธิ์ถูกปรับ
ผู้ค้าออนไลน์ทุกคนจะต้องรู้จัก “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2553 มาตรา 5” ซึ่งบังคับให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจ ดังต่อไปนี้ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ได้แก่ กิจการที่มีการซื้อ-ขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

หรือการบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือบริษัทมหาชนจำกัดทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร)

ดังนั้น การขายสินค้าออนไลน์ จึงนับเป็นพาณิชยกิจที่ต้องจดทะเบียนตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าว


อีกทั้ง ผู้ค้าออนไลน์ต้องรู้จัก “พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499” เอาไว้ด้วย เนื่องจากเป็นกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษไว้ในมาตรา 19 ที่ระบุว่า

หาก “ร้านค้าออนไลน์” ไม่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ หรือแสดงรายการเท็จ หรือไม่มาให้นายทะเบียนพาณิชย์สอบสวน ไม่ยอมให้ถ้อยคำ หรือไม่ยอมให้ทะเบียนพาณิชย์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบนั้น จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และให้ปรับอีกวันละ 100 บาท จนกว่าจะจดทะเบียนแล้วเสร็จ

ใครบ้างที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์?
1. ผู้ขายสินค้า/บริการ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และ Social Media

2. ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP)

3. ผู้ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (WebHosting)

4. ผู้ให้บริการเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้า/บริการ ผ่านอินเทอร์เน็ต (E-Marketplace) เช่น Lazada Shopee ฯลฯ

โดยต้องขอจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มค้าขาย ผู้ค้าต้องทำเว็บไซต์ที่จะใช้ขายสินค้าให้เรียบร้อย เช่น ลงรูปสินค้า คำบรรยาย ราคา วิธีชำระเงิน และวิธีจัดส่งให้ครบถ้วน

ขั้นตอนการยื่นจดทะเบียนฯ และเช็กจุดให้บริการ
ผู้ขายสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์ สามารถเดินทางไปจดทะเบียนพาณิชย์ ณ สำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตามที่ตั้งของสถานประกอบการหรือตามที่อยู่ของผู้ขาย โดยเอกสารที่จำเป็น ได้แก่ บัตรประชาชนตัวจริง สำเนาบัตรประชาชน รูปหน้าแรกของเว็บไซต์ (Print เป็นเอกสารเตรียมไปด้วย)

ส่วนขั้นตอนการยื่นจดทะเบียน และเอกสารสำคัญที่ใช้จดทะเบียนพาณิชย์เล็กทรอนิกส์  มีดังนี้

1. แสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง พร้อมแจ้งว่ามาจดทะเบียนฯ

2. ขอเอกสารแบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.)

3. กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์(เอกสารแนบแบบ ทพ.) กรอก 1 ใบต่อ 1 เว็บไซต์

4. เตรียมเอกสารที่ Print หน้าแรกของเว็บไซต์

5. วาดแผนที่ตั้งการประกอบพาณิชยกิจ

6. หนังสือรับรองการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (กรณีจดในนามนิติบุคคล)

7. กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาจดแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของทั้งผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ

วิธีขอเครื่องหมาย “DBD REGISTERED” รับรองธุรกิจออนไลน์
เมื่อพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ผ่านขั้นตอนการยื่นจดทะเบียนฯ เรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็สามารถขอใช้เครื่องหมายรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่าเครื่องหมาย “DBD Registered” ได้เลย โดยเครื่องหมายนี้มีประโยชน์คือ ใช้แสดงความมีตัวตนในการประกอบธุรกิจ e-Commerce โดยแสดงไว้บนหน้าเว็บไซต์ร้านค้าของคุณ และสามารถคลิกตรวจสอบข้อมูลความมีตัวตนมายัง www.trustmarkthai.com ได้


สำหรับช่องทางในการยื่นขออนุญาตใช้เครื่องหมาย “DBD Registered” สามารถแจ้งขอใช้เครื่องหมายฯ ได้ที่ กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร. 0-2547-5960 หรือ เว็บไซต์ www.trustmarkthai.com หรือ ส่งเอกสารมาที่ e-Mail : e-commerce@dbd.go.th หรือ โทรสาร 0-2547-5973

NOTE : เครื่องหมายรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะมีอายุการใช้งานเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่กรมอนุมัติให้มีกำหนดใช้

-------------------------

ที่มา : 

POST family

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์