สุดปัง! รถไฟฟ้าสายสีแดงมาแล้ว แต่ทำไม ใช้ราง 1 ม. ไม่ใช้ 1.435 ม.

hs8jai

  • *****
  • 1341
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและ ท่าอากาศยานได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ -Drsamart Ratchapolsitte โดยมีเนื้อหาดังนี้

เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันเปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 หลายคนคงไม่รู้ว่ารถไฟฟ้าสายนี้ใช้รางกว้าง 1 เมตร ไม่ใช้ 1.435 เมตร เหมือนรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น หาคำตอบได้จากบทความนี้

บทบาทของรถไฟฟ้าสายสีแดง

รถไฟฟ้าสายสีแดงภายใต้การกำกับดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีบทบาทในการขนผู้โดยสารจากชานเมืองเข้าสู่ตัวเมืองหรือสถานีกลางบางซื่อ ตามแผนแม่บทในปัจจุบันด้านทิศเหนือขนคนจากบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ด้านทิศตะวันออกขนคนจากหัวหมาก ด้านทิศตะวันตกขนคนจากศาลายา และด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ขนคนจากมหาชัย ถือได้ว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงทำหน้าที่เหมือน “กระดูกสันหลัง” ของโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ถึงเวลานี้เรามีรถไฟฟ้าใช้เป็นระยะทางยาวเท่าไหร่?

ถึงวันนี้ (6 สิงหาคม 2564) กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วรวมเป็นระยะทาง 209 กิโลเมตร จากระยะทางทั้งหมดในแผนแม่บทรถไฟฟ้าประมาณ 560 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 37% ของระยะทางทั้งหมด

จากระยะทางที่เปิดใช้แล้วทั้งหมด 209 กม. เป็นระยะทางที่เปิดใช้ก่อนสมัยรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 87 กม. และในสมัยท่านนายกฯ ประยุทธ์ฯ 122 กม. คิดเป็นระยะทางที่เพิ่มขึ้นในสมัยท่านนายกฯ ประยุทธ์ฯ 140% ซึ่งเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบรางของท่านนายกฯ ประยุทธ์ฯ รวมทั้งรัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่านมาที่ได้ทำการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบ เวนคืนที่ดิน และเริ่มก่อสร้างบางสาย

รถไฟฟ้าใช้รางกว้างเท่าไหร่

โดยทั่วไปรถไฟฟ้านิยมใช้รางกว้าง 1.435 เมตร หรือที่เรียกว่า “รางรถไฟมาตรฐานยุโรป (European Standard Gauge)” ซึ่งเป็นขนาดรางที่ใช้ในกลุ่มประเทศยุโรป ทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถให้บริการเดินรถไฟเชื่อมโยงระหว่างประเทศได้ ต่อมามักเรียกราง 1.435 เมตร กันติดปากว่า “รางรถไฟมาตรฐาน (Standard Gauge)” ไม่มีคำว่า “ยุโรป (Europe)” ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่ารางขนาด 1.435 เมตรเท่านั้น จึงจะเป็นรางมาตรฐาน ซึ่งไม่ถูกต้อง

รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ทุกสาย (ยกเว้นสายสีแดง สีทอง สีชมพู และสีเหลือง) ใช้รางกว้าง 1.435 เมตร ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) สายสีน้ำเงิน (MRT) สายสีม่วง และแอร์พอร์ตลิงก์ รวมทั้งรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีทอง สีชมพู และสีเหลืองนั้น เป็นรถไฟฟ้าที่ใช้ระบบเดินรถต่างจากรถไฟฟ้าสายอื่น

รถไฟฟ้าสายสีทองซึ่งเปิดให้บริการแล้วจากสถานีกรุงธนบุรี (เชื่อมกับ BTS) วิ่งลอยฟ้าบนถนนกรุงธนบุรี ถนนเจริญนคร และถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินไปจนถึงสถานีคลองสาน เป็นรถไฟฟ้า APM (Automated People Mover) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ใช้ล้อยางวิ่งบนพื้นคอนกรีตโดยมีรางเหล็กวางอยู่ตรงกลางระหว่างล้อซ้ายขวาเพื่อช่วยนำทาง เลี้ยววงแคบและไต่ทางลาดชันได้ดี กินพื้นที่น้อยเนื่องจากใช้โครงสร้างขนาดเล็ก APM เป็นที่นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีผู้โดยสารไม่มาก

รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เป็นรถไฟฟ้า Monorail หรือรถไฟฟ้ารางเดี่ยว ไม่ใช้คนขับเช่นเดียวกับ APM ใช้ล้อยางวิ่งบนรางคอนกรีตหรือรางเหล็กเพียงรางเดียว เลี้ยววงแคบและไต่ทางลาดชันได้ดี กินพื้นที่น้อยเนื่องจากใช้โครงสร้างขนาดเล็ก

ทำไมรถไฟฟ้าสายสีแดงจึงใช้ราง 1 เมตร?

รางรถไฟขนาดความกว้าง 1 เมตร หรือที่เรียกกันว่ามีเตอร์เกจ (Meter Gauge) สามารถรองรับรถไฟฟ้าที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดได้ไม่เกินประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าความเร็วสูงกว่านี้จะต้องใช้รางกว้างขึ้น เช่น ขนาด 1.435 เมตร เป็นต้น

เหตุที่รถไฟฟ้าสายสีแดงใช้ราง 1 เมตร ทราบว่าการรถไฟฯ ต้องการให้รถไฟชานเมืองและรถไฟทางไกลซึ่งใช้ราง 1 เมตร สามารถใช้รางร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงออกไปชานเมืองไกลขึ้น เช่น ทิศเหนือไปถึงบ้านภาชี และทิศตะวันออกไปถึงฉะเชิงเทรา เป็นต้น ดังนั้นการใช้ราง 1 เมตร จะทำให้รถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟชานเมือง และรถไฟทางไกลสามารถใช้รางร่วมกันได้ เป็นการประหยัดเงินลงทุนของประเทศ

ท่านมีความเห็นอย่างไรต่อเหตุผลของการรถไฟฯ ที่ออกแบบให้รถไฟฟ้าสายสีแดงใช้ราง 1 เมตร ไม่ใช้ราง 1.435 เมตร เหมือนรถไฟฟ้าสายอื่น?