พลังงาน ชง กพช.เคาะเกณฑ์ราคานำเข้าแอลเอ็นจีป้องกระทบค่าไฟ


     


แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 4 ส.ค.นี้ พิจารณา 2 วาระสำคัญ คือ แผนการเปิดแข่งขันเสรีในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และกรอบการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan)

โดยในส่วนของแผนการเปิดแข่งขันเสรีในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 กระทรวงพลังงาน จะรายงานผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีมติเห็นชอบกำหนดปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ช่วงปี 2564 – 2566 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจับซื้อก๊าซฯมาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take or Pay) โดยแบ่งเป็นปี 2564 จะมีปริมาณนำเข้า อยู่ที่ 0.48 ล้านตันต่อปี ปี 2565 อยู่ที่ 1.74 ล้านตันต่อปี และปี2566 อยู่ที่ 3.02 ล้านตันต่อปี

ขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งได้รับมอบหมายจาก กพช. ให้เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การนำเข้า LNG ตามโครงสร้างของกิจการก๊าซธรรมชาติในระยะที่ 2 คือ กลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. จัดหา LNG เพื่อนำมาใช้กับภาคไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ หรือ Regulated Market และ กลุ่มที่จัดหา LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง หรือ Partially Regulated Market


ปัจจุบัน กกพ.ได้ให้ใบอนุญาตการเป็นผู้จัดหาและนำส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) รายใหม่แล้ว 7 ราย และกำลังอยู่ระหว่างจัดสรรโควตานำเข้า LNG ที่เหมาะสมในปีนี้ ให้กับ Shipper แต่ละราย

โดย กกพ. เตรียมนำเสนอ กพช. ในครั้งนี้ ถึงแนวทางกำหนดหลักเกณฑ์โครงสร้างราคานำเข้า LNG ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 หลักเกณฑ์ คือ หลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG สำหรับ Shipper รายใหม่ และหลักเกณฑ์ราคานำเข้าก๊าซฯ ของ Shipper รายเดิม คือ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เพื่อให้การนำเข้า LNG มีราคาที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อค่าไฟฟ้าของประเทศต่อไป

“เบื้องต้น กกพ. รายงานว่า ขณะนี้รอ Shipper แต่ละรายแจ้งความประสงค์ในการนำเข้าLNG ในปีนี้ ซึ่งก็มีข้อกังวลว่า ราคา Spot LNG ที่แพงอาจกระทบต่อค่าไฟ โดยเฉพาะการนำเข้าของ กฟผ.ที่เป็นในส่วนของโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง แต่ในส่วนของเอกชน ที่จะนำเข้าก๊าซฯไปใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเองอาจจะมีผลกระทบน้อยกว่า จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้รัดกุม”

ส่วนแผนพลังงานแห่งชาติ จะนำเสนอขอความเห็นชอบกรอบของแผนฯต่อ กพช. เท่านั้น แล้วนำกลับมาจัดทำรายละเอียดต่างๆต่อไป โดยเฉพาะแผนปฏิบัติการ 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2022 ,แผนน้ำมันฯ ,แผนก๊าซธรรมชาติฯ,แผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก คาดว่า แผน PDP 2022 อาจจะเสร็จในปี 2565 แทน จากเดิมคาดว่าจะเสร็จปีนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อกระบวนการดำเนินงาน

“แผนพลังงานแห่งชาติ จะเสนอ กพช.เคาะกำหนดปีเป้าหมายให้ชัดเจน ในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ตามทิศทางของต่างประเทศ และเพื่อวางแนวนโยบายที่ชัดเจนของไทยในการไปเสนอต่อการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ในช่วงเดือนพ.ย.นี้ด้วย”

สำหรับรายละเอียดในแผนพลังงานแห่งชาติ ก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงาน ได้วางเป้าหมายด้านไฟฟ้าจะกำหนดให้โรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างใหม่จากนี้ จะต้องเป็นเชื้อเพลิงสะอาดเท่านั้น รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ โซลาร์ฟาร์ม ขยะ และการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว รวมถึงปรับให้สอดคล้องกับแผนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) เป็นต้น