ธปท. ระบุ ศก.ไทย มิ.ย. รับผลกระทบโควิดต่อเนื่อง-ล็อกดาวน์

Joe524

  • *****
  • 2200
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     



น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในเดือนมิ.ย.64 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกสามของโควิด-19 โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังอ่อนแอ แม้ปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่

อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และยังช่วยพยุงการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวได้เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน

ขณะที่ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงปรับลดลง เนื่องจากผลของฐานต่ำในหมวดราคาพลังงานทยอยหมดไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นตามทิศทางการส่งออก

โดยในเดือนมิ.ย.64 เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อน หลังจากภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดตั้งแต่กลางเดือนพ.ค. อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับรายได้และความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่อ่อนแอจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19

ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้าและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลให้การส่งออกยังเพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ การส่งออกเหล็กเร่งขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเปลี่ยนไปเน้นตลาดส่งออกมากขึ้นในช่วงที่ความต้องการในประเทศลดลง

"การระบาดของโควิดในโรงงานต่างๆ อาจมีผลกระทบกับการผลิตบ้างในระยะสั้น แต่ผู้ผลิตก็มีการปรับตัว บางโรงงานก็มีการทำ Bubble & Sealed เพื่อให้การผลิตยังเดินหน้าต่อ ส่วนผลกระทบระยะยาวนั้น ขอรอดูการประเมินจากที่ประชุม กนง.วันที่ 4 ส.ค.นี้ก่อน"

ADVERTISEMENT


สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการส่งออก ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างปรับลดลงต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งการได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง

ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการผลิตหมวดยานยนต์ ปิโตรเลียม และวัสดุก่อสร้าง สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ โดยปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ยังคงส่งผลกระทบต่อการผลิตหมวดอาหารแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์

ทั้งนี้มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภคสอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคการส่งออก

โดยการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน สะท้อนบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมเป็นสำคัญ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่

ขณะที่ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง เนื่องจากผลของฐานต่ำในหมวดราคาพลังงานทยอยหมดไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนมิ.ย.ขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นตามทิศทางการส่งออก

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่ยังยืดเยื้อ โดยเดือนมิ.ย. เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยจาก พ.ค. เป็นผลจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดี จึงทำให้ดอลลาร์แข็งค่า ประกอบกับในประเทศเองยังมีการระบาดโควิดอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้บาทอ่อนค่า

โดยล่าสุดในเดือน ก.ค.เงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากเดือนมิ.ย. เป็นผลจากนักลงทุนมีความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาในหลายประเทศ จึงทำให้มีการเข้าไปถือดอลลาร์มากขึ้น ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ขณะเดียวกัน จากการระบาดของโควิดในไทยเองที่ยังมีความรุนแรง ทำให้ ศบค.ต้องยกระดับมาตรการควบคุมให้เข้มงวดขึ้น จึงเป็นเหตุผลให้ในเดือนก.ค. เงินบาทปรับตัวอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นๆ

อย่างไรก็ดี หน้าที่ในการดูแลค่าเงินของ ธปท.นั้น ไม่ได้ขึ้นกับว่าเงินบาทจะแข็งค่าไปมาก หรืออ่อนค่าไปมาก แต่จะเข้ามาดูแลก็ต่อเมื่อค่าเงินมีความผันผวนจนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพโดยรวม ซึ่ง ธปท.มีกลไลที่จะเข้าไปดูแลในส่วนนี้อยู่แล้ว

"เรามีเครื่องมือที่จะดูแลอยู่แล้ว หากค่าเงินมีความผันผวนสูง...เราไม่ได้ดูว่าจะแข็งค่ามาก หรืออ่อนค่ามาก แต่เราจะดูว่าไม่ให้มีการผันผวนเร็วเกินไปจนภาคธุรกิจไม่สามารถปรับตัวได้ เพราะจะส่งผลต่อเสถียรภาพโดยรวม เราจะดูแลไม่ให้บาทผันผวนมากเกินไป"

สำหรับในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ของ โควิด-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงจากไตรมาสก่อน แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อได้บางส่วน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังอ่อนแอ เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน สะท้อนถึงบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐ

ส่วนด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งฐานราคาพลังงานที่ต่ำในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าไตรมาสก่อน ตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลเพิ่มขึ้น

น.ส.ชญาวดีกล่าวอีกว่า ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนก.ค.64 ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจมีแนวโน้มลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีความรุนแรง ประกอบกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องติดตามความเสี่ยงจากปัญหา supply disruption ทั้งการแพร่ระบาดในโรงงาน รวมถึงการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และตู้คอนเทนเนอร์