JMTลั่นปีนี้ลงทุนซื้อหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เล็งปิดดีลธุรกิจใหม่

Chigaru

  • *****
  • 2337
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) คงต้องยอมรับอุตสาหกรรมที่กำลังได้ประโยชน์คือ 'อุตสาหกรรมบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ' บ่งชี้ผ่านแนวโน้มปริมาณหนี้เสีย (NPL) ปัจจุบันอุปทานส่วนเกิน (Oversupply) สถาบันการเงิน และ ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non Bank) จะนำหนี้ด้อยคุณภาพออกมาประมูลขายจำนวนมาก และเกินกว่า 'กำลังซื้อ' ของผู้ซื้อรายใหญ่ 3 อันดับแรกรวมกัน สอดคล้องทิศทางปริมาณหนี้เสียในตลาดอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง 2 ปี (2564-2565)

'สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT หนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพรายใหญ่เมืองไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ' ว่า คาดการณ์แนวโน้มในช่วง 2 ปี (2564-2565) 'อุปทาน' (Supply) หนี้ด้อยคุณภาพจะถูกนำออกมาขายจำนวนมาก จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ลูกค้าไม่มีความสามารถผ่อนชำระคืนหนี้ได้ โดยคาดจะเห็นตัวเลข NPL ระดับสูงในปีหน้า หากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง และไม่มีการช่วยเหลือต่อ

ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทจึงเตรียมความพร้อมรองรับ 'โอกาสโต' ในแง่ของสรรพกำลังด้าน 'เงินทุน' ด้วยช่องทางการเพิ่มทุน ออกหุ้นกู้ รวมทั้งพ่วงออกวอร์แรนต์ JMT-W3 แจกผู้ถือหุ้นอีก 100 ล้านหน่วย เพื่อรองรับธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่มีโอกาสสร้างการเติบโตมหาศาลในปีนี้และปีหน้าเพื่อรอวัฏจักรเศรษฐกิจฟื้นตัวในปี 2565 เป็นต้นไป หลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย

สอดรับแผน 'การลงทุน' ปี 2564 ใน 'ธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ' ที่ตั้งเป้าวงเงินซื้อหนี้ด้อยคุณภาพอยู่ที่ 6,000-10,000 ล้านบาท ถือเป็นเงินลงทุนที่ทำ 'สถิติสูงสุด' (All Time High) ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทซื้อหนี้ไปแล้ว 1,833 ล้านบาท ล่าสุดพอร์ตบริหารหนี้คงค้างรวม 213,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงปลายปีก่อนอยู่ที่ 207,051 ล้านบาท แต่หากย้อนดู เดิมบริษัทเคยตั้งวงเงินการซื้อหนี้ระดับ 1,000 ล้านบาท ก่อนขยับมา 3,500 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว ก็ถือว่าสูงสุดที่เคยทำได้ แต่ปีนี้ตั้งวงเงินไว้สูงกว่าเดิมมาก

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการลงทุนถือว่าจังหวะนี้บริษัทมีศักยภาพซื้อหนี้ก้อนใหญ่มาบริหารได้ เนื่องจากกระแสเงินสดในมือระดับ 'พันล้านบาท' ดังนั้น นโยบายบริษัทจึงต้องการขยายพอร์ตการลงทุนบริหารหนี้ควบคู่กัน คือ 'พอร์ตหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน' และ 'พอร์ตหนี้มีหลักประกัน' ปัจจุบันสัดส่วนรายได้หนี้ไม่มีหลักประกัน 90% และ หนี้มีหลักประกัน 10% โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทขยายพอร์ตซื้อหนี้มีหลักประกันไม่ได้มาก เนื่องจากความพร้อมด้านเงินทุนมีจำกัด ทว่าปัจจุบันขีดความสามารถด้านเงินทุนพร้อมที่ขยายลงทุนไปทั้งสองส่วน

สะท้อนผ่านการเข้าลงทุนใน 'ธุรกิจใหม่' (New Business) อย่าง 'ธุรกิจประเมินราคาสินทรัพย์' ปัจจุบันอยู่ระหว่างการซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งจะเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คาดกระบวนการซื้อขายแล้วเสร็จไตรมาส 3 ปี2564 โดยบริษัทดังกล่าวมีผลการดำเนินงานเป็นกำไร แต่ไม่มาก ซึ่งทำธุรกิจประเมินราคาสินทรัพย์ได้ทั้ง ธุรกิจ , เครื่องจักร , โรงงาน , อาคารต่างๆ เป็นต้น 

เขา บอกต่อว่า สำหรับเป้าหมายลงทุนในธุรกิจประเมินราคาสินทรัพย์ ส่วนหนึ่งบริษัทต้องการให้เข้ามาเป็น 'อีโคซิสเต็ม' (EcoSystem) ของบริษัทเพื่อเข้ามาเชื่อมโยงสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ เกิดเป็นธุรกิจที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของพอร์ตหนี้ที่มีหลักประกันที่ต้องพึ่งพาในส่วนของการประเมินราคาสินทรัพย์ โดยที่ผ่านมาบริษัทใช้บริการบริษัทประเมินราคาสินทรัพย์มาประเมินให้อาจจะเกิดความล่าช้าในบางครั้ง 

ดังนั้น เมื่อบริษัทมีธุรกิจประเมินราคาสินทรัพย์เป็นของตัวเองแล้ว ธุรกิจดังกล่าวก็จะเข้ามาส่งเสริมให้การทำงานมีความสะดวกและรวดเร็วในการซื้อหนี้ที่มีหลักประกันมากยิ่งขึ้น และในอนาคตพอร์ตหนี้ที่มีหลักประกันก็ขยายตัวได้เร็วขึ้นอีก

'ที่ผ่านมาเรามีความสนใจซื้อหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันนานแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่สามารถทำได้มากเนื่องจากเงินทุนไม่พร้อม เพราะพอร์ตหนี้มีหลักประกันต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงมาก แต่ตอนนี้เรามองว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่บริษัทจะสามารถขยายพอร์ตลงทุนควบคู่กันไปได้แล้ว'  

ทั้งนี้ ปี 2564 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 30% จากปีก่อนที่มีรายได้ 3,206.83 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,047.04 ล้านบาท โดยประเมินแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังเติบโตโดดเด่นกว่าช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากคาดการณ์ว่าสถาบันการเงินและนอนแบงก์จะมีการขายหนี้ด้อยคุณภาพออกมาก้อนใหญ่ในไตรมาส 4 ปี 2564 และปลายปีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของภาครัฐสิ้นสุด เชื่อว่าปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพจะออกมาในตลาดปริมาณที่มากโดยเฉพาะในปีหน้า ซึ่งตามปกติปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพก้อนใหญ่ที่ออกสู่ตลาดจะมีมากกว่างบประมาณลงทุนของบริษัทอยู่แล้ว 

'ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทกำลังเร่งรัดตัดมูลค่าเงินลงทุนในกองหนี้ทั้งหมด (Fully Amortized) ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถรับรู้รายได้เข้ามาเต็มๆ อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ประกอบกับสถาบันการเงินต่างๆ มักจะเร่งปล่อยหนี้เสียออกมาประมูลในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปีจำนวนมาก'

ขณะที่ 'ธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้' ปีนี้แนวโน้มทรงตัวจากปีก่อน เนื่องจากเป็นช่วงสถาบันการเงินมีการพักหนี้ รวมทั้งสถาบันการเงินมีการเรียกคืนหนี้ด้อยคุณภาพระยะสั้นเพื่อนำไปปรับโครงสร้างหนี้ใหม่เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้าอีกด้วย โดย ณ ปลายปี 2563 บริษัทมีมูลหนี้ที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามจากผู้ว่าจ้างจำนวน 32,682 ล้านบาท โดยผู้ว่าจ้างหลักๆ เป็นสถาบันการเงินและบริษัทเช่าซื้อ 

'ธุรกิจประกันภัย-นายหน้าประกันภัย' คาดว่าในปีนี้ผลการดำเนินงานน่าจะมีกำไร หลังบริษัทมีการปรับพอร์ตลงทุนใหม่ ทำให้ปีก่อนผลดำเนินงานขาดทุนลดลง โดยแผนธุรกิจในการรับประกันภัยมุ่งเน้นไปที่การทำ InsurTech ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับการทำประกันภัยของบริษัท ซึ่งโครงสร้างรายได้ปี 2563 จะมาจากการรับประกันภัยกลุ่มรถยนต์ 64% และประกันภัยที่ไม่ใช่กลุ่มรถยนต์ 36% จากเบี้ยรับประกันภัยจำนวน 349 ล้านบาท โดยบริษัทยังคงมุ่งที่จะขยายงานไปในส่วนที่มีศักยภาพ และมุ่งที่จะนำเอาแบบประกันภัยเข้ามาใช้ในการดำเนิน Synergy ร่วมกับบริษัทในกลุ่ม    

ท้ายสุด 'สุทธิรักษ์' ทิ้งท้ายไว้ว่า ปีนี้สตอรี่การเติบโตของ JMT จะมาจากปริมาณ NPL ที่สถาบันการเงินและนอนแบงก์นำออกมาประมูลค่อนข้างสูงกว่าปกติ แม้ที่ผ่านมาจะมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐแต่ก็ยังมีหนี้ด้อยคุณภาพออกมาเรื่อยๆ แต่มองว่าปริมาณมูลหนี้ก้อนใหญ่และมากสุดอาจจะยังได้รับการช่วยเหลืออยู่ในปัจจุบัน