"กลุ่มทุนจีน" รุกซื้อที่ดินในต่างประเทศ ตามแผนสร้างแหล่งทรัพยากร

Cindy700

  • *****
  • 1849
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


บทวิเคราะห์ในเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย ที่กล่าวถึงกระแสการกว้านซื้อที่ดินของบริษัทจีนในภูมิภาคเอเชียระบุว่า กลยุทธของรัฐบาลจีนในการแผ่อิทธิพลเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การขยายสิ่งปลูกสร้างในทะเลจีนใต้จนจุดชนวนให้เกิดการต่อต้านจากหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการส่งออกโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจังเท่านั้น แต่จีนดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกด้วยการกว้านซื้อที่ดินในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องด้วย

ขณะนี้บริษัทจีนจำนวนมากกำลังกว้านซื้อที่ดินทั้งในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา โดยพื้นที่โดยรวมของที่ดินที่บริษัทจีนทั้งซื้อและเช่าในช่วง 10ปีที่ผ่านมามีจำนวนเท่ากับพื้นที่ทางบกของประเทศศรีลังกา หรือลิธัวเนียทั้งประเทศและมากกว่าการถือครองที่ดินของบริษัทสหรัฐและบริษัทสัญชาติอื่นๆ

การเคลื่อนไหวดังกล่าวของบริษัทจีน ทำให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่าที่ดินในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของจีน ทั้งยังทำให้เกิดความกังวลว่าการรุกคืบเข้ามาซื้อที่ดินด้านการเกษตรของกลุ่มทุนจีนจะบั่นทอนความมั่นคงของประเทศในท้ายที่สุด

ญี่ปุ่นและประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆไม่สามารถมองข้ามการกว้านซื้อที่ดินในต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจจีนที่เกิดขึ้นได้ โดยศาสตราจารย์ฮิเดกิ ฮิราโนะ จากมหาวิทยาลัยฮิเมจิ ซึ่งศึกษาเรื่องการเข้าซื้อที่ดินของนักลงทุนต่างชาติ มีความเห็นว่า “ควรมีการออกกฏหมายที่เข้มงวดมากกว่านี้เพื่อป้องกันการกว้านซื้อที่ดินของกลุ่มทุนจีน”

รายงานวิเคราะห์ได้ยกตัวอย่าง การกว้านซื้อที่ดินในรัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของเมียนมาโดยกลุ่มทุนจีนเพื่อปลูกกล้วย และเมื่อถึงปี 2558 พื้นที่ปลูกกล้วยนี้ก็ขยายออกไปจนถึงปัจจุบันทำให้ทิวทัศน์ในแถบนั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง


ผลสำรวจของหน่วยงานเอกชนและองค์กรต่างๆ บ่งชี้ว่าบริษัทจีนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับการปลกูกล้วยในพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่ข้อมูลจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ระบุว่า การส่งออกกล้วยจากเมียนมาเพิ่มขึ้น 250 เท่าตัว จากมูลค่า1.5 ล้านดอลลาร์ในปี 2556 เป็น 370 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 และส่วนใหญ่ส่งออกไปจีน

ชาวบ้านในรัฐคะฉิ่นบอกว่า ยังคงมีการปลูกกล้วยของกลุ่มทุนจีนในรัฐคะฉิ่นนับตั้บแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เพราะภาษีจากกล้วยเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่หล่อเลี้ยงทหารในกองทัพเมียนมา

แต่บริษัทจีนไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนภูมิทัศน์เฉพาะในเมียนมาเท่านั้น ในจังหวัดบิญเฟื๊อก ทางภาคใต้ของเวียดนามซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพาราและมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมยางในประเทศก็กำลังถูกคุกคามในลักษณะคล้ายๆกัน

โดยผู้กระทำคือบริษัทนิวโฮป หลิวเหอ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านปศุสัตว์ชั้นนำของจีน และได้กว้านซื้อที่ดินในจังหวัดนี้ของเวียดนาม 75 เฮกตาร์ (468.75 ไร่) เพื่อเพาะพันธ์และเลี้ยงหมูมาตั้งแต่ปี 2562 และตอนนี้บริษัทนิวโฮป ก็ขยายฟาร์มหมูไปในภาคกลางและภาคเหนือของเวียดนาม โดยใช้ฟาร์มหมูที่จังหวัดบิญเฟื๊อกเป็นโมเดล

ข้อมูลจากแลนด์ แมทริกซ์ องค์การมอนิเตอร์ที่ดินในยุโรป ระบุว่า นับจนถึงปัจจุบัน บริษัทจีนถือครองที่ดิน 6.48 ล้านเฮกตาร์(40.5 ล้านไร่)ที่เป็นพื้นที่การเกษตร,ป่าไม้และเหมืองทั่วโลกตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2563 เทียบกับบริษัทสัญชาติอังกฤษที่ครอบครองที่ดินทั้งหมด 1.56 ล้านเฮกตาร์ (9.75 ล้านไร่) บริษัทสัญชาติอเมริกันที่ครอบครองที่ดินในต่างประเทศ 860,000 เฮกตาร์ (5,375,000 ไร่) และบริษัทญี่ปุ่นที่ถือครองที่ดินในต่างประเทศจำนวน 420,000 เฮกตาร์ (2,625,000 ไร่)

การรุกซื้อที่ดินในต่างประเทศของบริษัทจีนเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลปักกิ่งที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจจีนซื้อที่ดินในต่างประเทศก็เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนในขณะที่ปริมาณอาหารและสินค้าเกษตรทั่วโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะตึงตัว

แต่กลุ่มทุนจีนไม่ได้กว้านซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตรอย่างเดียว แต่ซื้อกิจการเหมืองหลายแห่งด้วยเช่นกัน โดยบริษัทไชนา มินมีทัลส์ ลงทุน 280 ล้านดอลลาร์ในแทนซาเนีย แอฟริกาใต้ ในปี 2562 และไชนา นอน-เฟอร์รัส มีทัล ไมนิง ลงทุน 730 ล้านดอลลาร์เพื่อทำเหมืองในกินีเมื่อปี 2563

ขณะที่ข้อมูลของสถาบันเพื่อการวิจัยนโยบายสาธารณะกิจการอเมริกัน (American Enterprise Institute for Public Policy Research)ซึ่งเป็นกลุ่มนักคิด ระบุว่า การลงทุนดังกล่าวของกลุ่มทุนจีนมีเป้าหมายเพื่อเข้าถึงแหล่งแร่ต่างๆที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรม อาทิแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า ประเทศต่างๆที่รับการลงทุนจากจีนล้วนเป็นประเทศที่เสี่ยง ต้องกลายเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาจีนมากขึ้นและจะก้าวสู้กับดักหนี้ โดยเฉพาะประเทศที่เข้าร่วมในโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(บีอาร์ไอ)เพื่อปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรณีของบริษัทไชนา ฮาร์เบอร์ เอนจิเนียริง (ซีเอชอีซี) ที่ได้เข้าไปพัฒนาท่าเรือแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของศรีลังกา แต่รัฐบาลศรีลังกาไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ให้แก่รัฐบาลจีนได้ จึงส่งมอบท่าเรือให้แก่บริษัทซีเอชอีซีภายใต้สัญญาเช่านาน 99 ปี

นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างทางหลวงในโคลอมโบ เมืองใหญ่สุดของศรีลังกา ที่บริษัทซีเอชอีซีซึ่งก่อสร้างทางหลวงเส้นนี้จะได้สิทธิเป็นเจ้าของทางหลวงนานถึง18ปี แล้วจึงส่งมอบให้ทางการศรีลังกา