คนไทยยุคสังคมก้มหน้า ใช้เน็ต 10 ชม.ต่อวัน


     


สดช. เปิดเผยผลสำรวจโครงการ Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 พบคนไทยมีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตสูง 6 – 10 ชั่วโมงต่อวัน เล็งเก็บตัวเลขต่อเนื่องทุกปี หวังเป็นถังข้อมูลเก็บผลสำรวจเศรษฐกิจดิจิทัลไทย พร้อมจับมือ 6 หน่วยงานด้านดิจิทัลภาครัฐจัด MOU หวังยกระดับความร่วมมือนำข้อมูล และผลสำรวจใช้วางแผนยุทธศาสตร์องค์กร ขานรับนโยบายประเทศเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ได้กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 ว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยริเริ่มในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในคณะนโยบายขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (The Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งนำไปสู่การดำเนินงานโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานภาพการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ

“กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล และโครงการนี้ก็สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว โดยมีเป้าหมายในการจัดทำข้อมูลและผลวิเคราะห์ เพื่อช่วยให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล มาประยุกต์ใช้ในการช่วยประเมินและผลักดันการดำเนินการด้านยุทธศาสตร์ 20 ปี” นายชัยวุฒิกล่าว 



โดยเสริมว่า ผลการศึกษาวิจัยจากโครงการนี้เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง โดยสามารถแสดงภาพการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศอันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายดิจิทัลของกระทรวงฯ สดช. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสะท้อนให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของประเทศไทยในปัจจุบันที่ต้องได้รับการพัฒนาต่อยอด หรือปรับปรุงแก้ไขต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนยังสามารถนำข้อมูล ผลการสำรวจ และผลการศึกษาวิจัยต่างๆ จากโครงการศึกษาวิจัย Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 นี้ ไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ ทั้งการปฏิบัติงานตามภารกิจของหน่วยงาน การให้บริการภาคประชาชนและภาคธุรกิจ การออกนโยบาย และมาตรการส่งเสริมภาคประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และการวางแผนดำเนินกิจการในธุรกิจสำหรับภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและสอดรับกับสภาพตลาดในยุคดิจิทัลไทยแลนด์



ด้าน นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวว่า โครงการศึกษาวิจัย Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาด้านดิจิทัลของไทย ให้มีมาตรฐานในระดับนานาชาติรวมถึงแนวทางและมาตรการในการขับเคลื่อนดิจิทัลไทยแลนด์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสามารถสร้างให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของไทยและสากล ตลอดจนการจ้างงานที่มีคุณค่าสูงรองรับการพัฒนาประเทศในยุคเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน โดย สดช. ได้เริ่มดำเนินโครงการเมื่อปี พ.ศ. 2561

“สดช. ได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลสำรวจและวิเคราะห์ ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจดิจิทัล ตามแนวทาง Measuring the Digital Transformation และ Digital Economy Outlook ของ The Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนสามารถนำผลการศึกษามาประเมินและใช้ประกอบการพิจารณาการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยในการกำหนดแนวทางการส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้ได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญ เราจะมีโมเดลการจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัดที่เป็นแนวทางการจัดเก็บข้อมูลในระดับสากล (OECD) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเตรียมการจัดเก็บและการวิเคราะห์ข้อมูลตัวชี้วัด ตามแนวทางการจัดเก็บของ OECD อีกด้วย” นางวรรณพรกล่าว



นอกจากนี้ สดช. ยังได้มีการลงนามความร่วมมือในโครงการ Thailand Digital Outlook ซึ่งเป็นผลสำรวจดัชนีชี้วัดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ร่วมกับหน่วยงานด้านดิจิทัลของภาครัฐอีก 6 หน่วยงานด้วยกัน ประกอบด้วย สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร) ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวได้มีการบริหารจัดการและการบูรณาการข้อมูลภาครัฐที่มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน รวมถึงเป็นการยกระดับการบริหารงานภาครัฐให้เป็นระบบดิจิทัล ที่มีระบบการทำงานและข้อมูลเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ โดยนำผลการศึกษา Thailand Digital Outlook ของประเทศไทย รวมถึงข้อมูลและชุดข้อมูลในการศึกษานี้ไปใช้ในการวางยุทธศาสตร์องค์กรของแต่ละหน่วยงานอีกด้วย

สำหรับการศึกษาวิจัย Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 ได้ศึกษาการเข้าถึง พฤติกรรม และการตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตในภาคประชาชน การใช้ช่องทางออนไลน์ การลงทุนวิจัยและการพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านดิจิทัลทั้งในองค์กรธุรกิจเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ โดยได้ทำการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคประชาชน (จำนวน 39,145 ตัวอย่าง) ภาคธุรกิจเอกชน (จำนวน 3,381 ตัวอย่าง) และหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการปฐมภูมิแก่ประชาชน (จำนวน 935 ตัวอย่าง) การสำรวจได้ดำเนินการระหว่างเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ได้ประกาศมาตรการควบคุมและบรรเทาเหตุการณ์ดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดที่มีการระบาดอย่างรุนแรง รวมถึงการทำงานแบบ work from home ในองค์กรภาคธุรกิจเอกชนและหน่วยงานรัฐบาล



การสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดเป็นสัดส่วนถึง 85.1% มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยระยะเวลาการใช้งานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6-10 ชั่วโมงต่อวัน โดยวัตถุประสงค์หลักของการใช้อินเทอร์เน็ตในภาคประชาชนเพื่อรองรับการทำงาน (75.2%) การรับบริการออนไลน์ทางด้านการศึกษา (71.1%) การทำธุรกรรม ซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ (67.4%) การติดต่อสื่อสารสนทนา (65.1%) การทำธุรกรรมออนไลน์ด้านการเงิน (54.7%) กิจกรรมสันทนาการ (53.1%) มีส่วนร่วมในการดำเนินการภาครัฐ (49.6%) การรับบริการออนไลน์ทางด้านสาธารณสุข (48.6%) ติดตามข่าวสารทั่วไป (39.1%) การใช้งานด้านอื่นๆ (35.6%) การสร้างสรรค์เนื้อหาหรือคอนเทนต์ต่างๆ (28.2%) และทำธุรกรรมด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ (2.2%) การสำรวจยังพบว่า 76.6% ของประชาชนยังซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม โดยมี Shopee และ Lazada เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ยอดนิยมอันดับต้นๆ การศึกษายังพบว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดเป็นสัดส่วน 60.7% ใช้บริการออนไลน์ภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่น การชำระค่าน้ำและค่าไฟ นอกจากนี้ 64.6% ของประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังทำงานโดยใช้การประชุมทางไกลผ่าน VDO Conference อีกด้วย โดยสถานที่หลักที่ประชาชนนิยมใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19ได้แก่ ที่พักอาศัยของตนเอง (70.2%) และสถานที่ทำงาน (22.2%)

อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบว่า 61.7% ของประชาชนมักเกิดความเครียดบ่อยมากขึ้นเมื่อทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ หากมองถึงความปลอดภัยในการซื้อขายหรือทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ มีเพียงแค่ 43.6% ของประชาชนที่รู้จัก พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ 43.1% ของประชาชนเคยพบปัญหาด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี การป้องการทางเทคโนโลยีโดยส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนรหัสผ่านในการเข้าระบบเท่านั้น



สำหรับภาคธุรกิจเอกชน การสำรวจพบว่า 98.4% ของผู้ประกอบการมีการใช้อินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ธุรกิจเอกชนยังมีการใช้เทคโนโลยีในเรื่องของ Cloud และ Data Analytics สูงขึ้น โดยผู้ประกอบการใช้ Cloud ถึง 70.3% และทำ Data Analytics สูงถึง 61.5% และ ใช้ AI ในเรื่องของ Chatbot สูงถึง 41% โดยช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นได้แก่ธุรกิจทางด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น 54.6% ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 27.4% และธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 27.9% ในขณะที่การท่องเที่ยวและสันทนาการมีการใช้ออนไลน์ลงลดถึง 76.4% โดยสาเหตุหลักอาจจะเกิดจากการปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางจากจังหวัดหนึ่งไปยังจังหวัดอื่นๆได้ ในขณะที่แฟชั่นลดลง 44.8% และวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรลดลง 36.5% เนื่องจากมีจำนวนโรงงานที่ปิดตัวมากขึ้น

การสำรวจยังพบว่า 73.9% ของผู้ประกอบการยังมีช่องทางออนไลน์เพื่อจำหน่ายสินค้าและบริการ และ 28.0% ของผู้ประกอบการมีการสั่งซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ โดยช่องทางออนไลน์และสื่อสังคมที่ผู้ประกอบการนิยมใช้ได้แก่ ยูทูป (YouTube) ไลน์ (Line) เฟสบุ๊ค (Facebook) และทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นต้น นอกจากนี้ มีผู้ประกอบการจำนวนมากถึง 88.5% ที่ใช้บริการออนไลน์ภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยื่นภาษีและนำส่งข้อมูลบัญชี เกี่ยวกับปัจจัยทางด้านบุคลากรดิจิทัล 66.4% ของผู้ประกอบการมีการจัดจ้างพนักงานไอที โดยพนักงานเหล่านั้นจะมีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาด้านไอที 33.6% ของผู้ประกอบการยังมีการจัดฝึกอบรมพนักงานไอทีอีกด้วย ทางด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล 80.5% ของผู้ประกอบการรู้จัก พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในขณะที่ 27.1% ของผู้ประกอบการเคยพบปัญหาด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี โดยการป้องกันส่วนใหญ่จะใช้ระบบยืนยันตัวตน



สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการปฐมภูมิแก่ประชาชน อันได้แก่ โรงเรียนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) การศึกษาพบว่า 76.4% มีการใช้อินเทอร์เน็ต การศึกษายังพบว่า 69.1% ของหน่วยงานภาครัฐมีการให้บริการออนไลน์ โดยมีเฟสบุ๊คเป็นช่องทางออนไลน์ที่นิยมมากที่สุด และมีบริการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลเป็นบริการที่มีมากที่สุด อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจ พบว่าสัดส่วนพนักงานไอทีในหน่วยงานภาครัฐยังมีจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับพนักงานในแผนกอื่นๆ หรือเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 5% โดยเจ้าหน้าที่ไอทีส่วนใหญ่จะมีหน้าที่ดูแลและพัฒนาเว็บไซต์เป็นหลัก น้อยกว่า 10% ของพนักงานไอทีที่ได้รับการฝึกอบรมในหน่วยงานอีกด้วย ทางด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยีดิจิทัล 69.7% ของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐรู้จัก พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในขณะที่ 39.7% เคยพบปัญหาด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี

“ผลการสำรวจทำให้เรามองเห็นถึงปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทย ทั้งในด้านการนำนวัตกรรมดิจิทัลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ การลงทุนในนวัตกรรมดิจิทัลทั้งในแง่ของผู้ประกอบการและนักวิจัย และการสร้างทักษะแรงงานด้านดิจิทัลในประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาอีคอมเมิร์ซทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ” นางวรรณพรกล่าว