วันนี้ (30 สิงหาคม 2564) ที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิด “ศูนย์สนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์” และให้สัมภาษณ์ว่า จากสถานการณ์โรคโควิด 19 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) จึงได้จัดตั้ง
ศูนย์สนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์ (Medical Oxygen Support Center) ขึ้น โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และประชาสังคม ภายใต้ชื่อภารกิจ “ลมใต้ปีก” จัดส่งออกซิเจนทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่เข้าแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และชุมชน/ศูนย์พักคอย (Community Isolation) ซึ่งบางรายจำเป็นต้องได้รับออกซิเจนทางการแพทย์เพื่อประคับประคองอาการ ระหว่างรอเข้าระบบการรักษาในโรงพยาบาล มีทีมบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการติดตั้งที่ได้มาตรฐาน พร้อมแนะนำการใช้งานที่ถูกต้อง นอกจากนี้มีการบริหารจัดการคลังอุปกรณ์ การขนส่ง เบิกจ่าย ที่เป็นระบบตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับภาพรวมขณะนี้ในพื้นที่ กทม.มีผู้ป่วยเข้าระบบกักตัวที่บ้าน จำนวน 57,118 ราย และที่ศูนย์พักคอย กทม. 56 แห่ง จำนวน 2,271 ราย
“ภารกิจลมใต้ปีก เป็นความร่วมมือที่เชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วนที่มีประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องการออกซิเจนจะได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที ลดอาการรุนแรงและลดเสียชีวิต ผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ 3 ช่องทาง คือ สายด่วน 1426 / เว็บไซต์
http://oxygen.hss.moph.go.th/ และเครือข่ายจิตอาสา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” ดร.สาธิตกล่าว
ด้านนายแพทย์ธเรศกล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานของศูนย์สนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์ ซึ่งตั้งอยู่ณ อาคารกรม สบส. จะดำเนินงานในรูปแบบ One Stop Service โดยมีคอลเซ็นเตอร์ สายด่วน กรม สบส. 1426 บริการตลอด 24 ชั่วโมง รับเรื่องขอสนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์ พร้อมให้การประเมินผู้ป่วยและแจ้งข้อมูลความต้องการไปยังหน่วยจัดเก็บออกซิเจนทางการแพทย์ เพื่อจะมีเจ้าหน้าที่ส่งต่อถังออกซิเจน/เครื่องผลิตออกซิเจนให้ผู้ป่วยถึงที่พัก พร้อมแนะนำการใช้งาน เปลี่ยนถังใหม่ หรือเติมก๊าซออกซิเจนให้ตามที่ร้องขอ และมีระบบติดตามเก็บคืนอุปกรณ์จากที่พักผู้ป่วย โดยผู้ป่วยหรือญาติไม่จำเป็นต้องเดินทางมาคืนเอง นอกจากนี้ กรม สบส.จะเข้าไปตรวจสอบความต้องการออกซิเจนทางการแพทย์ ผ่านแพลตฟอร์ม “จิตอาสา.แคร์” หรือ
https://jitasa.care อีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ ศูนย์สนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์ ได้เตรียมพร้อมอุปกรณ์ ได้แก่ ท่อออกซิเจน 50 ท่อ เครื่องผลิตออกซิเจน 25 เครื่อง เกจออกซิเจน เรกูเลเตอร์ 100 ชุด ที่วัดอัตราการไหล 100 ชุด กระบอกเพิ่มความชื้น 100 ชุด สายออกซิเจนช่วยหายใจ 300 เส้น เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว 100 เครื่อง เป็นต้น