พวกหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯยังมีความเห็นกันไปคนละทาง 

hs8jai

  • *****
  • 1341
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


พวกหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯยังคงมีความเห็นแตกแยกกันในเรื่องต้นตอที่มาของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ทั้งหมดต่างเชื่อว่าทางผู้นำจีนไม่ได้รู้เรื่องไวรัสมรณะนี้ ก่อนการเริ่มต้นของโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ทั้งนี้เป็นผลการศึกษาทบทวนแบบลงลึกยิ่งขึ้นที่สั่งการโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อ 3 เดือนก่อน และเวอร์ชั่นซึ่งไม่ถูกจัดเป็นความลับ ได้มีการนำออกเผยแพร่ในวันศุกร์ (27 ส.ค.) ที่ผ่านมา

บทคัดย่อแบบที่ไม่ถูกจัดชั้นความลับของรายงานผลการศึกษาทบทวนฉบับนี้ระบุว่า ใน 18 องค์กรสมาชิกของประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ มีอยู่ 4 รายบอกว่ามีความมั่นใจในระดับต่ำ ว่าไวรัสนี้เบื้องต้นทีเดียวเป็นการติดต่อจากสัตว์มาสู่มนุษย์ ขณะที่องค์กรข่าวกรองรายที่ 5 บอกว่าเชื่อด้วยความมั่นใจระดับปานกลางว่าการติดเชื้อของมนุษย์รายแรกมีความเกี่ยวข้องกับแล็บทดลอง นอกจากนั้นพวกนักวิเคราะห์เผยว่ามีอีก 3 องค์กรซึ่งไม่สามารถที่จะหาข้อสรุปออกมาได้ อย่างไรก็ดี พวกนักวิเคราะห์ของหน่วยข่าวกรองเหล่านี้ต่างไม่เชื่อว่า ไวรัสนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้เป็นอาวุธชีวภาพ รวมทั้งพวกเขาแทบทั้งหมดยังเชื่อว่าไวรัสนี้ไม่ได้ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรม

ขณะเดียวกัน สำนักงานของผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุในคำแถลงที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ (27) ว่า จีน “ยังคงขัดขวางการสืบสวนสอบสวนของทั่วโลก, ต่อต้านไม่แลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร, และมุ่งประณามประเทศอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐฯ” สำนักงานซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานของประชาคมข่าวกรองอเมริกันแห่งนี้ย้ำว่า การที่จะมีข้อสรุปเกี่ยวกับต้นตอที่มาของไวรัสนี้ได้ น่าจะจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากจีน

ถึงแม้โรคโควิด-19 มีการระบาดไปทั่วโลกมากว่า 1 ปีครึ่งแล้ว แต่สหรัฐฯยืนยันว่าการสืบสาวหาที่มาของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังคงเป็นเรื่องเร่งด่วนทางสาธารณสุข และเป็นข้อห่วงใยด้านความมั่นคงปลอดภัยของทั่วโลก ในสหรัฐฯนั้น พวกอนุรักษนิยมจำนวนมากเที่ยวกล่าวหาเรื่อยมาว่านักวิทยาศาสตร์จีนเป็นผู้พัฒนาโควิด-19 ในห้องแล็บ และปล่อยให้มันรั่วไหลออกสู่ภายนอก พวกเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงขั้นจัดทำเป็นเอกสารแผ่นปลิวข้อเท็จจริง โดยมุ่งชี้ไปที่การวิจัยเรื่องไวรัสโคโรนาในสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ซึ่งตั้งอยู่ในนครของจีนที่ทราบกันว่าเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นมาเป็นแห่งแรก

ในวงการวิทยาศาสตร์นั้น ยังคงมีฉันทามติกันว่าไวรัสนี้น่าที่จะกระโดดจากสัตว์มาสู่มนุษย์ อย่างที่เรียกกันว่า zoonotic transmission โดยที่เหตุการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่พบเห็นกันอยู่ในธรรมชาติ และไวรัสโคโรนาอย่างน้อยที่สุด 2 ชนิดซึ่งวิวัฒนาการอยู่ในค้างคาว ได้เคยทำให้เกิดโรคระบาดในมนุษย์มาแล้ว อันได้แก่ โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS หรือ SARS1) และโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS)

ทางด้านประธานาธิบดีไบเดน ก็ได้ออกคำแถลงในโอกาสนี้ โดยโจมตีจีนว่า ขัดขวางความพยายามในการสืบสวนสอบสวนไวรัสมรณะนี้ “ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นแล้ว”

“โลกสมควรที่จะได้รับทราบคำตอบ และผมก็จะไม่ยอมหยุดยั้งจนกว่าพวกเราจะได้คำตอบ” เขากล่าว “ชาติที่มีความรับผิดชอบทั้งหลาย ไม่ควรละเลยความรับผิดชอบต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเช่นนี้”

อย่างไรก็ดี สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำวอชิงตัน ได้ตอบโต้กลับด้วยคำแถลงอันยาวเหยียด ระบุว่าสหรัฐฯ “เสกสรรปั้นแต่ง” รายงานฉบับดังกล่าวขึ้นมา พร้อมกับอ้างอิงเรื่องที่ประชาคมข่าวกรองอเมริกันเคยผิดพลาดอย่างฉกาจฉกรรจ์มาแล้วในอดีต ในเรื่องที่ยืนกรานก่อนที่สหรัฐฯจะทำสงครามรุกรานอิรักเมื่อปี 2003 ว่า อิรักยุคซัดดัม ฮุสเซน ครอบครองอาวุธทำลายล้างร้ายแรง แล้วก็ไม่เคยพบหลักฐานยืนยันเรื่องนี้เลยภายหลังสหรัฐฯยึดครองอิรักอยู่หลายปี

“รายงานเรื่องนี้ของประชาคมข่าวครอง ยึดโยงอยู่กับการทึกทักเอาไว้ล่วงหน้าว่าฝ่ายจีนนั้นมีความผิด และเป็นเพียงการมุ่งเอาจีนเป็นแพะรับบาปเท่านั้น” สถานเอกอัครราชทูตจีนบอก “การปฏิบัติเช่นนี้มีแต่เป็นการก่อกวนและบ่อนทำลายความร่วมมือระหว่างประเทศในการติดตามค้นหาต้นตอที่มา และในการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่คราวนี้ และได้รับการคัดค้านอย่างกว้างขวางจากประชาคมระหว่างประเทศ”

ไบเดนนั้นได้ออกคำสั่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ให้ดำเนินการศึกษาทบทวนอย่างลงลึกมากขึ้นภายในระยะเวลา 90 วัน หลังจากทำเนียบขาวกล่าวว่ารายงานเบื้องต้นที่ประชาคมข่าวกรองเสนอออกมา นำไปสู่ “ฉากทัศน์ที่อาจเป็นไปได้ 2 อย่าง” ด้วยกัน นั่นคือ ไวรัสโคโรนานี้มาจากการถ่ายทอดเชื้อจากสัตว์สู่มนุษย์ หรือไม่ก็เกิดขึ้นเพราะเชื้อรั่วไหลออกจากห้องแล็บ ทำเนียบขาวกล่าวในเวลานั้นว่า มี 2 องค์กรข่าวกรองที่โน้มเอียงไปทางเชื่อข้อสมมุติฐานว่าเชื้อนี้เกิดขึ้นจากการถ่ายทอดในธรรมชาติ ขณะที่อีกองค์กรหนึ่งโน้มเอียงไปทางเชื่อว่ามันมาจากการรั่วไหลในห้องแล็บ

สำนักงานของผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติไม่ได้ระบุว่าหน่วยงานไหนสนับสนุนข้อสันนิษฐานอะไร แต่ชี้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) และเหล่านักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็กำลังประสบกับอุปสรรคทำนองเดียวกับสหรัฐฯ นั่นคือ การขาดไร้ตัวอย่างและข้อมูลทางคลินิคจากเคสที่ป่วยเป็นโควิด-19 ในตอนเริ่มแรกที่สุด

ในการศึกษาทบทวนคราวนี้ พวกองค์กรข่าวกรองสหรัฐฯได้ปรึกษาหารือกับบรรดาชาติพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญนอกภาครัฐบาล มีการนำเอานักระบาดวิทยาผู้หนึ่งเข้าไปในสภาข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มของพวกผู้เชี่ยวชาญระดับอาวุโสที่ให้คำปรึกษากับผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ

“ทฤษฎีหลุดจากห้องแล็บ”กำลังเป็นที่เชื่อถือกันน้อยลง

ในตอนที่เกิดโรคระบาดใหญ่กันใหม่ๆ สมมติฐานเรื่องไวรัสโคโรนานี้มีต้นกำเนิดจากธรรมชาติ --นั่นคือมันมีวิวัฒนาการในค้างคาว แล้ว จากนั้นจึงถูกถ่ายทอดมาสู่มนุษย์ โดยที่น่าจะผ่านสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลาง— เป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

แต่หลังจากเวลาผ่านไป โดยที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถค้นเจอไวรัสในค้างค้าว หรือในสัตว์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะสำคัญทางพันธุกรรมสอดคล้องกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ พวกที่สืบสวนสอบสวนโรคจึงระบุว่าพวกเขาเปิดกว้างมากขึ้นในการพิจารณาทฤษฎีไวรัสรั่วจากห้องแล็บ โดยเฉพาะจากสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ซึ่งมีการศึกษาวิจัยเรื่องไวรัสโคโรนาในค้างคาว

อย่างไรก็ตาม เอกสารทางวิชาการระยะหลังๆ มานี้ กำลังทำให้การอภิปรายถกเถียงหวนกลับไปเอนเอียงทางข้างเชื่อถือว่ามันมีต้นตอมาจากสัตว์อีกชนิดหนึ่ง

ทั้งนี้คณะนักวิจัยในจีนและของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ในสกอตแลนด์ ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสาร “ไซแอนซ์” ที่มีข้อสรุปว่า “การถ่ายทอดจากสัตว์สู่มนุษย์ โดยเกี่ยวข้องกับสัตว์มีชีวิตที่ติดเชื้อ เป็นสาเหตุที่น่าเป็นไปได้มากที่สุดของโรคระบาดใหญ่โควิด-19”

นอกจากนั้น รายงานการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งโดยนักไวรัสวิทยาชั้นนำ 21 คน ในวารสาร “เซลล์” มีข้อสรุปอย่างตรงไปตรงมาว่า “ในปัจจุบันไม่มีหลักฐานใดๆ เลยว่า SARS-CoV-2 (ชื่อย่ออย่างเป็นทางการของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่) มีต้นกำเนิดจากห้องแล็บ”

(เก็บความจากเรื่อง US intelligence still divided on origins of coronavirus
ของสำนักข่าวเอพี และเรื่อง Biden says China still withholding 'critical' info on Covid origins ของสำนักข่าวเอเอฟพี)