วิธีกำจัดเชื้อรา ‘บนเสื้อผ้า – ในบ้าน’ ช่วงหน้าฝนให้ถูกวิธี ลดสะสมเชื้อโรค

dsmol19

  • *****
  • 2408
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


วันนี้ (27 ส.ค.) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงหน้าฝน ปัญหาที่พบบ่อยคือเสื้อผ้ามีกลิ่นอับชื้น เนื่องจากเปียกฝนหรือสวมใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานานๆ หลายชั่วโมง รวมถึงการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยที่เปียกชื้นอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ ดังนั้น เมื่อกลับถึงบ้านแล้วควรนำเสื้อผ้าที่เปียกไปแขวนผึ่งให้แห้ง ก่อนใส่ตะกร้าเพื่อรอการซัก ไม่ควรทิ้งไว้นาน ๆ เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อราบนเสื้อผ้าได้ หากนำมาสวมใส่อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนังจากเชื้อราตามมา อาทิ โรคกลาก เกลื้อน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง มีขุยรอบ ๆ เกิดอาการคัน ทำให้เป็นผื่นแพ้และติดเชื้อได้ ไม่ควรเกาหรือปล่อยไว้จนลุกลาม ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป ซึ่งการทำความสะอาดเสื้อผ้าที่มีกลิ่นอับชื้นหรือปัญหาเชื้อราบนผ้า สามารถทำได้ด้วย 2 วิธีคือ วิธีที่ 1 ซักตามปกติแล้วนำไปต้มในน้ำเดือดนาน 15 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ส่วนวิธีที่ 2 แช่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่สามารถหาได้ในครัวเรือน ได้แก่ น้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนผสมโซเดียมไฮโปคลอไรด์ โดยเติม 1 ฝา ต่อน้ำ 10 ลิตร แช่ผ้าไว้นาน 5-15 นาที หรือใช้น้ำส้มสายชู 2-3 ถ้วยตวง ต่อน้ำ 1-2 ลิตร แช่ผ้าไว้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง แล้วซักตามปกติ จากนั้นนำไปตากแดดจัดหรือตากในที่ที่มีอากาศถ่ายเทจนแห้ง แล้วนำมารีดทั้งข้างในและข้างนอกตัวเสื้อ โดยก่อนทำความสะอาดเสื้อผ้า ควรอ่านป้ายสัญลักษณ์การดูแลรักษาเสื้อผ้า เพื่อเลือกวิธีทำความสะอาดเสื้อผ้าที่ดีที่สุดและป้องกันเสื้อผ้าชำรุด ส่วนหน้ากากผ้า ควรเปลี่ยนทุกวัน หรือเปลี่ยนเมื่อรู้สึกเปียกชื้นในระหว่างวัน และให้ซักหน้ากากผ้าให้สะอาดทุกวันด้วยสบู่หรือผงซักฟอกแล้วตากแดดให้แห้ง กรณีสวมหน้ากากอนามัย ให้เปลี่ยนหน้ากากอนามัยชิ้นใหม่ทุกวัน หรือเมื่อหน้ากากเปียกชื้น และควรพกหน้ากากอนามัยสำรองไว้ติดตัว เพื่อให้สามารถเปลี่ยนใหม่ได้ทันที

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในช่วงหน้าฝน สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการกำจัดเชื้อราในบ้าน เพราะหน้าฝนความชื้นในอากาศ สามารถทำให้ภายในบ้านมีความชื้นสูง อาจเป็นแหล่งของเชื้อราได้ อาทิ ห้องน้ำ ห้องนอน และห้องครัว เชื้อราจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้น สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่สีดำ น้ำตาล เขียว แดงเหลือง และขาว พบได้เป็นกลุ่มๆ ในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น ฝ้าและผนัง เพดาน เฟอร์นิเจอร์ ใต้พื้นพรม เครื่องนอน เครื่องปรับอากาศ หากสปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพต่าง ๆ ตามมา เช่น หากเข้าตาและจมูก จะทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการจาม น้ำมูกไหล มีไข้ บางรายก่อให้เกิดโรคหอบหืด ภูมิแพ้ และปอดอักเสบในที่สุด ซึ่งกลุ่มที่ต้องระวังคือ ผู้สูงอายุ และเด็กอ่อน

“ทั้งนี้ สามารถเช็ดทำความสะอาดบ้านเรือนที่ปนเปื้อนเชื้อราได้ 3 ขั้นตอน คือ 1. พื้นผิววัสดุที่พบเชื้อรา ให้ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิวไปในทางเดียว แล้วนำกระดาษทิชชูหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ดังกล่าวทิ้งลงในถังขยะที่ปิดมิดชิด 2. ใช้กระดาษทิชชู แผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ชุบลงในน้ำผสมกับสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้ง และ 3. ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5-7 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60-90 เปอร์เซ็นต์ เช็ดทำความสะอาดเพื่อเป็นการทำลายเชื้อในขั้นตอนสุดท้าย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว