ปศุสัตว์คุมเข้มโควิดระบาดในโรงงานดันยอดส่งออกเนื้อไก่ครึ่งปีแรกพุ่ง


     


นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า   กรมปศุสัตว์มีหน้าที่กำกับดูแลและส่งเสริมการส่งออกสินค้าเนื้อไก่ ซึ่งในสถานการณ์โรคโควิดระบาดนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูแลการผลิตเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดส่งออกเนื้อไก่ครึ่งปี2564เพิ่มขึ้นจำนวน 5 แสนตัน มูลค่า 56,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.1 และ 0.9 ตามลำดับ

              อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์มีหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์      ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันโรคระบาดโควิดไม่ให้ปนเปื้อนกับสินค้า จึงมีนโยบายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำบับเบิ้ลแอนด์ซี (Bubble and Seal) ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคควบคู่ไปกับการดำเนินการตามมาตรการของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวดตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มมาตรฐาน GAP โรงฆ่าสัตว์และโรงแปรรูปที่ถูกสุขอนามัย มาตรการป้องกันโรคโควิด    ในโรงงานมุ่งเน้น 3 ด้าน

ได้แก่ 1) ด้านพนักงาน หรือผู้ที่ต้องสัมผัสอาหารต้องมีการเฝ้าระวังสุขภาพและผ่านการตรวจโรคโควิด-19 ก่อนเข้าปฏิบัติงาน 2) ด้านสถานที่ผลิต ให้รักษาความสะอาดเรียบร้อยตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิต (GMP) โดยมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช่ในการผลิตด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อในไลน์การผลิต 3) ด้านสินค้า มีการตรวจสอบประสิทธิภาพ   ในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด มีการเก็บตัวอย่างตรวจการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสินค้า อุปกรณ์ สิ่งแวดล้อม จุดสัมผัสและจุดเสี่ยงในอาคารผลิต เพื่อประกันการปลอดเชื้อ จากการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าตรวจจำนวน 2,940 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบการปนเปื้อนเชื้อโควิด

“โรงงานที่พนักงานตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดอาจได้รับผลกระทบเนื่องจากถูกสั่งปิด และ   ขาดแรงงาน ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่อาจได้รับผลกระทบจากการรอนำไก่เข้าเชือดซึ่งโรงงานในบางจังหวัดถูกสั่งปิดเป็นเวลาสั้นๆ 5-7 วัน แต่บางจังหวัดอาจถูกสั่งปิด 14 วันไก่จะมีน้ำหนักมากและถูกกดราคา สำหรับการส่งออกยังไม่มีหน่วยงานของประเทศผู้นำเข้า   ของต่างประเทศได้แสดงความกังวลมาแต่อย่างใด  ยกเว้นสาธารณรัฐประชาชนจีนหากพบว่าโรงงานใดที่ตรวจพบคนงานติดเชื้อ     กรมปศุสัตว์ต้องชะลอการส่งออกชั่วคราวตามข้อกำหนดจีน” 

ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด           ในภาพรวมได้ พนักงานหายป่วยกลับมาทำงาน รวมถึงการมีแรงงานเข้ามาชดเชย ก็มั่นใจว่า ปัจจุบันในปี 2564 สินค้าเนื้อไก่มีปริมาณการส่งออกมีจำนวน 504,754 ตัน มูลค่า 56,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่า สิ้นปีนี้ยอดส่งออกเนื้อไก่จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ     ร้อยละ 2-3 เทียบกับปี 2563 หรือที่ปริมาณ 1,219,909 ตัน มูลค่า 141,786 ล้านบาท อย่างแน่นอน