GoTo ดีลใหญ่ เขย่าวงการบริษัทเทคโนโลยีในอาเซียน

Chanapot

  • *****
  • 1900
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


แม้จะเป็นเพียงการควบรวมกันของ 2 บริษัทสตาร์ทอัพในอินโดนีเซีย แต่ก็ถือป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย และจะกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ติดอันดับ Top 3 ของประเทศ โดยเมื่อรวมมูลค่าธุรกรรม หรือ Gross Transaction Value (GTV) ของ 2 บริษัทนั้น จะมีมูลค่ามากถึง 2.2 หมื่นล้านเหรียญ คิดเป็น 2% ของ GDP อินโดนีเซีย อีกทั้งผู้บริหารยังตั้งเป้าว่า อาจจะไปได้ถึง 5-10% ของ GDP ภายหลังจากควบรวมกันเป็น GoTo หลังจากนี้ บริษัทเตรียมที่จะเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในประเทศอินโดนีเซียและที่สหรัฐฯ พร้อมนำเม็ดเงินที่จะมาพลิกโฉมหน้าการแข่งขันของอุตสาหกรรม ไม่เพียงแต่ในประเทศ แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย ซึ่งจะได้รับผลกระทบและแรงกระเพื่อมจากดีลครั้งนี้

ก่อนอื่น ไปดูว่า GoTo คือใคร และทำไมถึงจะสร้างผลกระทบต่อวงการบริษัทเทคโนโลยีในอาเซียนได้มากขนาดนี้

บริษัทแรกของการควบรวม คือ Gojek เป็น Platform เรียกรถ (Ride-hailing) ที่กำลังแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในเวทีเดียวกันกับ Grab ในหลายประเทศในอาเซียน ในอินโดนีเซียนั้น Gojek ยังมีบริการอื่นๆ ที่เป็น on-demand services อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การส่งของ การส่งอาหาร ของกินของใช้ ดอกไม้ ยา รวมถึงบริการที่เป็น Lifestyle services ต่างๆ เช่น จ้างคนทำความสะอาดบ้าน นวด ติวเตอร์ เทรนเนอร์ฟิตเนส จัดสวน ตัดผม และยังมีบริการ จองตั่วรถ คอนเสิร์ต อีเว้นท์ รวมไว้ในแอปเดียวอีกด้วย GoJek ยังทำธุรกิจการเงิน (Financial services) ในชื่อ GoPay ซึ่งเป็น e-wallet สำหรับชำระค่าบริการต่างๆ รวมถึงการให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคด้วย ซึ่งถือได้ว่า มีความพร้อมที่จะเป็น SuperApp สำหรับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

ขณะที่อีกบริษัทหนึ่งของการควบรวมก็แข็งแกร่งในสมรภูมิของตัวเองเช่นเดียวกัน คือ Tokopedia นั้นเป็น platform e-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ชนิดที่ว่า แม้ Shopee จะเป็นผู้นำในทุกประเทศในอาเซียนแล้วนั้น แต่ในอินโดนีเซียทั้ง  2 บริษัท ยังคงคู่คี่สูสีกันอยู่ โดย Tokopedia นั้น เป็นผู้บุกเบิกตลาด e-commerce มาตั้งแต่ปี 2009 และปัจจุบันเป็นผู้นำในตลาด C2C ที่ส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงราว 45% มีผู้ใช้งานต่อเดือนมากถึง 129 ล้านคน และสามารถสร้างรายได้ได้จากหลากหลายช่องทาง ทั้งจากการโฆษณาสินค้า การเก็บค่าคอมมิชชั่น รวมถึงค่าบริการเสริมอื่นๆ ใน Tokopedia นั้น ผู้ใช้งานยังสามารถสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและจากตลาดทั่วไปได้ ทำให้ความกว้างของสินค้านั้น ครอบคลุมของใช้ในชีวิตประจำวันได้เกือบทุกอย่าง

ดังนั้น การรวมกันของบริษัทใหญ่นี้ จึงทำให้ความเป็นผู้นำในทั้ง 2 ตลาด ถูกเสริมความแข็งแกร่งให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งการรวมกันของฐานลูกค้า การเพิ่มประสิทธิภาพในค่าใช้จ่ายทางการตลาดและระบบหลังบ้าน การจัดการโลจิสติกส์ ซึ่งอินโดนีเซียนั้น มีภูมิประเทศที่เป็นเกาะมากกว่า 17,000 เกาะ การควบรวมกันจะส่งผลบวกต่อการจัดส่งสินค้าและต้นทุนของทั้งสองบริษัทอย่างมาก และที่สำคัญที่สุด คือ ข้อมูลลูกค้า ฐานข้อมูลของ GoTo จะมีข้อมูลลูกค้าที่มีความละเอียดและแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อธุรกิจต่อเนื่องของบริษัท คือ ธุรกิจการเงิน (Financial services) ในการทำ Credit scoring การปล่อยสินเชื่อ และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินแก่ลูกค้า การรวมกันของทั้ง 2 นี้ ยังถือว่า เป็นบริษัทแรกในโลกที่สามารถให้บริการได้ทั้ง e-commerce platform และ on-demand services อีกด้วย

ด้านการถือหุ้น GoTo จะมาจากผู้ถือหุ้นของ Gojek 58% และ Tokopedia 42% ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทรวมจะเป็น Alibaba และ SoftBank โดย Alibaba นั้นยังถือหุ้นในคู่แข่งของ Tokopedia อย่าง Lazada ขณะที่ Softbank ก็ถือหุ้นในคู่แข่งของ Gojek อย่าง Grab เป็นที่น่าสังเกตว่า ระบบนิเวศน์ของวงการบริษัทเทคโนโลยีในอาเซียนนั้นมีความทับซ้อนกันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทชั้นนำของโลกอย่าง Facebook Google JD.com PayPal Tencent และ Visa รวมถึงกองทุนขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง

Goto เตรียมตัวที่จะจดทะเบียนใน 2 ตลาด (Dual listing) ทั้งอินโดนีเซียและสหรัฐฯ โดยคาดการณ์กันว่าจะระดมที่มูลค่ากิจการมากถึง 3.5-4.0 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวของมูลค่ารวมของ 2 บริษัทที่ 18 ล้านเหรียญ ที่เคยระดมทุนไปในปี 2019 และ 2020 ตามลำดับ และเป็นมูลค่าที่ใกล้เคียงกับ Grab บริษัทสิงคโปร์ที่กำลังจะจดทะเบียนในตลาด Nasdaq ผ่านการระดมทุนแผนพิเศษ Special Purpose Acquisition Company (SPAC) หนุนโดย Altimeter Capital ที่มูลค่ากิจการราว 4 หมื่นล้านเหรียญ หลังทั้ง Gojek และ Grab ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการควบรวมกันได้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในเวทีอาเซียนเดียวกันนั้น ยังถือว่าห่างจากมูลค่าของ SEA group อยู่มาก ที่ราว 14.5 หมื่นล้านเหรียญ ที่มีทั้งธุรกิจ e-commerce ธุรกิจการเงิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจเกมส์ของ Garena ที่ถือว่ายังเป็นตัวแปรที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของ Platform Technology ในภูมิภาคนี้อยู่
ภายหลังการระดมทุน GoTo อาจไม่หยุดเพียงความเป็นผู้นำในตลาดอินโดนีเซีย แต่ยังจะขยายไปในตลาดอื่นๆในอาเซียนที่ Gojek นั้นได้เริ่มธุรกิจเอาไว้แล้ว รวมถึงประเทศอื่นๆได้อีกด้วย และไม่เพียงแต่ GoTo เท่านั้น ยังมีสตาร์ทอัพเทคโนโลยีรายอื่นๆอีก ทั้ง Grab Traveloka Bukalapak ที่กำลังเตรียมตบเท้าเข้าระดมทุนผ่านตลาดต่างๆ ซึ่งถือเป็นการนำเม็ดเงินเข้าเพิ่มในระบบนิเวศน์ของบริษัทเทคโนโลยีให้อุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและช่วยให้สตาร์ทอัพขนาดเล็กใหม่ๆได้เติบโตตามมาได้เร็วขึ้น ทำให้ในระยะข้างหน้า แม้ว่าผลกระทบและแรงกระเพื่อมที่จะเกิดขึ้นต่อวงการบริษัทเทคโนโลยีในอาเซียนจะยังคงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไป แต่ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ความเข้มข้นของการแข่งขันจากบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในสมรภูมิรบอาเซียนนั้นได้เพิ่มขึ้นแล้ว