'บอร์ดอีวี' หารือเร่งแผนใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ


     


นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเปิดตัวธุรกิจ “EGAT EV Business Solutions” ภายใต้ชื่องาน The Next Future Journey EGAT EV Business Solutions โดยระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกในหลายร้อยปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ซึ่งเครื่องยนต์สันดาปเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ถึง 72.5% สร้างมพิษทางอากาศและเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกตระหนักถึงปัญหานี้ และประกาศเป้าหมายชัดเจนที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์เป็นศูนย์ (Carbon neutrality) ซึ่งหนึ่งในแนวทางดังกล่าว คือ การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) โดยคาดการณ์ว่าปี 2568 ราคารถอีวีจะเท่ากับรถยนต์สันดาป และในปี 2583 จำนวนรถอีวีจะมีมากกว่ารถยนต์สันดาป เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์เป็นศูนย์(Carbon neutrality)

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อผลักดันการใช้รถอีวีตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยคณะกรรมการฯ จะมีการประชุมในช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ เพื่อกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมให้ชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมายปี 2573 จะมีการผลิตรถอีวี 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด หรือประมาณ 750,000 คัน และภายในปี 2583 จำนวนรถอีวีจะเพิ่มเป็น 2.5 ล้านคัน

“การประชุมคณะกรรมการฯครั้งนี้ ก็คงต้องมาคุยกันให้ชัดเจนว่าจะกำหนดเป้าหมาย Carbon neutralityในปีไหน และจำนวนรถอีวี ปีไหนจะเป็นเท่าไหร่ ส่วนที่เอกชนเสนอให้เพิ่มจำนวนรถอีวีเป็น 50% ในปี 2573 ก็มีความเป็นไปได้ เพราะทั่วโลกตอนนี้เร่งส่งเสริมอีวีเร็วขึ้น แต่ก็ต้องรอความชัดเจนจากการประชุม”


นอกจากนี้ ในส่วนของ กฟผ. ที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เตรียมส่งเสริมการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) เมื่อวันที่ 10 มี.ค.64 ได้อนุมัติให้จัดตั้งบริษัท Egat Innovation Holdings มี กฟผ.ถือหุ้น 40%, บริษัท ราช กรุ๊ป ถือหุ้น 30% และบริษัท ผลิตไฟฟ้า (เอ็กโก กรุ๊ป) ถือหุ้น 30% เพื่อขับเคลื่อนใน 2 เรื่องหลัก คือ 1.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยายนต์ไฟ้ฟา เช่น รถอีวี แบตเตอรี่ เทคโนโลยี5G 

2. การเทรดดิ้งไฟฟ้า ซึ่งกฟผ.จะเป็นตัวกลางรับ-ส่งไฟฟ้า ไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ กฟผ.ได้เปิดตัวธุรกิจให้บริการซื้อขายเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) รวมทั้งการให้บริการรับรอง REC เพื่อสนับสนุนการลงทุนใหม่ๆในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) เพื่อตอบโจทย์บริษัทที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่มีทางเลือกในการใช้พลังงานสะอาดเป็นคอมเมอร์เชียล

วานนี้(11มี.ค.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้เปิดตัวธุรกิจ EGAT EV Business Solutions ภายใต้ชื่องาน The Next Future Journey EGAT EV Business Solutions” ภายใต้ชื่องาน The Next Future Journey EGAT EV Business Solutions พร้อมลงนามความร่วมมือ EV Charging Station & Platform co creation for Electric Vehicles Project ระหว่าง กฟผ. และพันธมิตรจาก 6 บริษัทรถยนต์ชั้นนำ ได้แก่ Audi, BMW, Mercedes-Benz, MG, Nissan และ Porsche เพื่อให้ความร่วมมือกันในด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า Application เชื่อมโยงข้อมูล และการส่งเสริมการขาย

นายวฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.เตรียมจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการใช้บริการชาร์จรถอีวี ซึ่งคาดว่า ราคาค่าบริการชาร์จไฟสำหรับรถอีวีจะไม่เกิน 1 บาทต่อกิโลเมตร โดยอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียด ขณะที่ค่าบริการชาร์จไฟรถอีวี ตามต้นทุนการลงทุนในปัจจุบัน เบื้องต้นมีอัตราอยู่ที่ประมาณ 7-8 บาทต่อหน่วย