สายสีแดงเปิดหวูดฝ่าวิกฤต! 'ศักดิ์สยาม' ปิดประตู...ขาดทุน 

hs8jai

  • *****
  • 1341
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรง ทำให้มีความกังวลว่าโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อาจจะต้องเลื่อนเปิดให้บริการจากวันที่ 2 ส.ค. 2564 ออกไปก่อนหรือไม่ ซึ่ง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รีบยืนยันว่ารถไฟสายสีแดงปักหมุดเปิดให้บริการ (Soft Opening) วันที่ 2 ส.ค. 2564 แน่นอน...ไม่เลื่อน โดยตามกำหนดการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดผ่านระบบออนไลน์ จากตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยจะให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรีเป็นเวลา 3 เดือน (ส.ค.-ต.ค. 2564)

สำหรับรถไฟสายสีแดงถือเป็นตำนานโครงการรถไฟฟ้าที่ใช้ระยะเวลาก่อสร้างยาวนานมากที่สุดเส้นทางหนึ่ง และเป็นรถไฟฟ้าสายที่ประชาชนคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลจับตา และรอคอยสายหนึ่ง

โดยช่วงบางซื่อ-รังสิต หากนับจากวันที่เริ่มต้นสัญญาก่อสร้างงานโยธาเมื่อ 10 ก.พ. 2556 จนถึง 2 ส.ค. 2564 ที่รถไฟสายสีแดงขบวนแรกจะเปิดหวูดให้ประชาชนได้ทดลองนั่งฟรี ใช้ระยะเวลากว่า 8 ปี โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาโครงการมีปัญหาอุปสรรคมากมาย จนทำให้ต้องมีการขยายระยะเวลาสัญญาก่อสร้าง และปรับเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างมาแล้ว 5 ครั้ง จากกรอบเริ่มต้น 52,220 ล้านบาท เป็น 93,950 ล้านบาท ซึ่งยังเหลือครั้งล่าสุดที่จะเสนอขอปรับอีก 10,345 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าก่อสร้างเพิ่มเติม (Variation Order : VO) โดยจะทำให้กรอบวงเงินโครงการสายสีแดงรวมช่วงบางซื่อ-รังสิต เพิ่มเป็น 104,295 ล้านบาท


“ศักดิ์สยาม” ปักหมุดเปิดให้บริการ จี้ รฟท.เร่งแก้ปัญหาติดขัดทุกมิติ

ก่อนหน้านี้ รฟท.กำหนดเปิดให้บริการรถไฟสายสีแดงอย่างไม่เป็นทางการในเดือน ม.ค. 2564 “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ประกาศนโยบายปักหมุดเปิดให้บริการรถไฟสายสีแดงภายในปี 2564 หลังจากตรวจเช็กการก่อสร้างงานโยธา 2 สัญญา และความก้าวหน้าสัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล วางไทม์ไลน์ ปิดจ็อบ และเมื่อรถไฟฟ้า 2 ขบวนแรกเดินทางมาถึง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2562 และเข้าประจำการ ณ โรงซ่อมบำรุงสถานีกลางบางซื่อ ในเดือนพ.ย. 2562 รฟท.เดินหน้าเข้าสู่โหมดการทดสอบระบบตามขั้นตอน

นอกจากนี้ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ยังได้มีการติดตามการดำเนินการในทุกๆ ด้านอย่างใกล้ชิด โดยตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อจำนวน 5 คณะ ประกอบด้วย

1. ด้านการเดินรถของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งระบบ รวมทั้งการเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่ง 2. ด้านสถานี 3. ด้านราคาค่าโดยสารและบัตรโดยสาร 4. ด้านการสื่อสารสาธารณะ 5. ด้านการกำหนดจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารและสินค้า (Gateway/Hub)

นอกจากนี้ ยังมีคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และพื้นที่ช่วงสถานีกลางบางซื่อ และคณะอนุกรรมการด้านการพิจารณาดำเนินการขอพระราชทานชื่อโครงการ 2 สายทาง สายทางละ 3 ชื่อ ซึ่ง รฟท.ได้จัดทำหนังสือถึงสำนักงานราชบัณฑิตยสภาและกรมศิลปากรเพื่อพิจารณาชื่อที่จะขอพระราชทาน

โครงการสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) เสนอ 3 ชื่อ ได้แก่ เฉลิมมหามงคล อาทรวัฒนวิถี และสวัสดิลีลาศ

โครงการสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) เสนอ 3 ชื่อ ได้แก่ ฉลองมหานคร สิทธิรังสีรัถยา และ ประพาสภิรมย์



ช่วงทดลองให้บริการฟรี วิ่งความถี่ 15-30 นาที

รถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. มี 10 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ, สถานีจตุจักร, สถานีวัดเสมียนนารี, สถานีบางเขน, สถานีทุ่งสองห้อง, สถานีหลักสี่, สถานีการเคหะ, สถานีดอนเมือง, สถานีหลักหก และสถานีรังสิต ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 25 นาที ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. มี 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางซ่อน สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 15 นาที

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา รฟท.โดยบริษัท รฟฟท. จำกัด ได้มีการทดลองระบบการเดินรถ มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุต่างๆ ตามมาตรฐานความปลอดภัย โดยวิศวกรที่ปรึกษาอิสระ (Independent Certification Engineer : ICE) ของโครงการได้เข้าตรวจสอบและออกใบรับรองให้แล้ว พร้อมที่จะเปิดให้ประชาชนร่วมใช้บริการโดยไม่เก็บค่าโดยสารตามแผนงาน

ในช่วงทดลองตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.นี้จะกำหนดความถี่ในการให้บริการเวลาเร่งด่วน 15 นาที นอกเวลาเร่งด่วน 30 นาที วิ่งเฉลี่ย 78 เที่ยว/วัน ใช้รถประมาณ 12 ขบวน โดยสายบางซื่อ-รังสิตจะใช้รถแบบ 6 ตู้/ขบวน จำนวน 8 ขบวน สายบางซื่อ-ตลิ่งชันใช้รถแบบ 4 ตู้/ขบวน จำนวน 4 ขบวน

ตารางการเดินรถสายบางซื่อ-รังสิต เที่ยวแรกออกจากบางซื่อ เวลา 06.00 น. ส่วนเที่ยวแรกออกจากรังสิต เวลา 06.00 น. เที่ยวสุดท้ายออกจากบางซื่อ เวลา 19.30 น. เที่ยวสุดท้ายออกจากรังสิต เวลา 19.30 น.

สายบางซื่อ-ตลิ่งชัน เที่ยวแรกออกจากบางซื่อ เวลา 06.00 น. ส่วนเที่ยวแรกออกจากตลิ่งชัน เวลา 06.06 น. เที่ยวสุดท้ายออกจากบางซื่อ เวลา 19.30 น. เที่ยวสุดท้ายออกจากตลิ่งชัน เวลา 19.36 น.



ระบบฟีดเดอร์เชื่อมเข้าสถานียังไม่สมบูรณ์

สำหรับการเดินทางเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อและสถานีรายทางนั้น ต้องยอมรับว่าการจัดระบบฟีดเดอร์และโครงสร้างพื้นฐานยังไม่สมบูรณ์ 100% ซึ่งคาดว่าก่อนจะถึงกำหนดเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์เดือน พ.ย.จะมีความพร้อมมากขึ้น

โดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้จัดรถเมล์ 4 สาย ได้แก่ สาย 49 สาย 67 สาย 79 และ สาย 522 ปรับปรุงเส้นทางเดินรถให้เชื่อมเข้าสถานีสายสีแดง

ขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก่อสร้างทางเดินเชื่อมต่อกับบริเวณทางเดินชั้นใต้ดินของสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 2 จุด คือ บริเวณทางเดินผู้โดยสารของสถานีรถไฟฟ้า MRT บางซื่อ และทางเดินเชื่อมต่อบริเวณชั้นจำหน่ายบัตรโดยสารของสถานีรถไฟฟ้า MRT บางซื่อ

“ขณะที่สถานีกลางบางซื่อนั้นมีลานจอดรถใต้ดินรองรับได้ถึง 1,600 คัน คาดว่าจะเพียงพอต่อจำนวนผู้โดยสารในช่วงแรกที่คาดว่ายังมีไม่มากนัก”



เร่งปรับปรุงถนนเชื่อมเข้าสถานีรังสิต เกตเวย์ด้านเหนือ

สำหรับสถานีรังสิต ซึ่งเป็นเกตเวย์จุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารและสินค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการดำเนินการพัฒนาโครงข่ายจุดเชื่อมต่อผู้โดยสารเสร็จแล้ว คือ ปรับปรุงถนนหน้าสถานี (ฝั่งตะวันตก) รฟท.ดำเนินการ และการปรับปรุงทางเข้าสถานีจาก ทล.346 (ทิศทางจากรังสิต) วงเงิน 4 แสนบาท (กรมทางหลวง ดำเนินการ)

ส่วนที่จะต้องดำเนินการเพิ่มเติมอีกคือ ก่อสร้างสะพานกลับรถด้านทิศใต้ วงเงินรวม 206 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 12 เดือน คาดแล้วเสร็จเดือน มี.ค. 2566, ปรับปรุงจุดกลับรถใต้สะพานข้ามทางรถไฟ ทางเท้า และระบบระบายน้ำ (ทิศทางจากปทุมธานี) วงเงิน 4.6 ล้านบาท ดำเนินการช่วงปี 2565 โดยกรมทางหลวง (ทล.)

ในส่วนของการจ้างบริการเพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อและสถานีรถไฟฟ้า 12 สถานี ประกอบด้วย 1. จ้างงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) และจราจร 2. จ้างบริการทำความสะอาดอาคารและบริเวณสถานี 3. งานบริหารจัดการงานอาคารและสถานที่บริเวณสถานี 4. จ้างบริการรักษาความปลอดภัยและทำความสะอาดภายในอาคารและพื้นที่โดยรอบของโรงซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีแดง (CT Depot) และทำความสะอาดขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดง 5. จ้างติดตั้งระบบจัดการจราจรภายในบริเวณลานจอดรถสถานีกลางบางซื่อ และจัดเก็บค่าบริการจอดรถ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดหาตามขั้นตอน

ด้านการจัดประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์ อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศเชิญชวนเพื่อคัดเลือกเอกชนดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์และป้ายโฆษณาบริเวณอาคารสถานีกลางบางซื่อและสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 สถานี คาดว่าจะเสนอบอร์ด รฟท.พิจารณาอนุมัติร่างทีโออาร์ในเดือน ส.ค.นี้ คาดว่าจะได้เซ็นสัญญาและเริ่มดำเนินการในเดือน พ.ย. 64 โดยจะแบ่งเป็นเฟสเพื่อเปิดให้บริการได้รวดเร็วขึ้น

โดยมี 4 ฉบับ คือ 1. ประกาศเชิญชวน เสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีกลางบางซื่อ

2. ประกาศเชิญชวน เสนอผลตอบแทนการเช่าสิทธิติดตั้งป้ายโฆษณาบริเวณอาคารสถานีกลางบางซื่อ

3. ประกาศเชิญชวน เสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีรถไฟฟ้า 12 สถานี

4. ประกาศเชิญชวน เสนอผลตอบแทนการเช่าสิทธิติดตั้งป้ายโฆษณาบริเวณสถานีรถไฟฟ้า 12 สถานี



โจทย์สุดหิน...ห้ามขาดทุน

การให้บริการโครงการรถไฟฟ้ารายได้มาจาก 2 ส่วน คือ จากค่าโดยสาร และจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งรายได้จากค่าโดยสารจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณผู้โดยสาร แต่... สถานการณ์ในปัจจุบัน ปริมาณการเดินทางลดลงไปอย่างมาก โดยล่าสุดพบว่าผู้โดยสารระบบรางทั้งระบบเหลือเพียง 98,453 คน/วันเท่านั้น หรือลดลงถึง 91.82% เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณผู้โดยสารช่วงปี 2562 ก่อนที่จะเกิดโรคโควิด-19 ที่ระบบรางมีผู้โดยสารรวมถึงกว่า 1.2 ล้านคน/วัน

ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารและอัตราค่าโดยสารจะผันแปรโดยตรงกับรายได้ ซึ่งรถไฟสายสีแดงมี 13 สถานี ระยะทาง 41.56 กม. กำหนดอัตราเริ่มต้นที่ 12 บาท สูงสุด 42 เฉลี่ย 1.01 บาท/กม.

ทั้งนี้ ตามผลการศึกษาเดิม คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในปีแรกที่เปิดให้บริการเฉลี่ยที่ 86,620 คน/วัน โดยคาดว่าจะมีรายได้ในปีแรกรวมประมาณ 1,153 ล้านบาท โดยมาจากค่าโดยสารราว 673 ล้านบาท และมีรายได้เชิงพาณิชย์ 480 ล้านบาท

ส่วนรายจ่ายรวมอยู่ที่ 1,267 ล้านบาท หลักๆ จะเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรประมาณ 376.6 ล้านบาท ค่าไฟฟ้าประมาณ 327 ล้านบาท ค่าประปา 7.5 ล้านบา ค่ารักษาความปลอดภัยและรักษาความสะอาดอีกราว 284.1 ล้านบาท ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษา 90.3 ล้านบาท

ภายใต้สมมติฐานรายรับ รายจ่ายนี้ เท่ากับในปีแรกสายสีแดงจะยังขาดทุนประมาณ 113 ล้านบาท โดยยังไม่หักค่าดอกเบี้ย เงินกู้งานไฟฟ้าและเครื่องกลอีกกว่า 317 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีผลขาดทุนสุทธิ 431 ล้านบาท

สำหรับประมาณการผู้โดยสารนั้น ในข้อเท็จจริงมีการปรับลดลงมากกว่าครึ่ง ประกอบกับในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงหนักหน่วงเช่นนี้ คงไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารได้เลย ...คงได้แต่รอลุ้นว่าในเดือน พ.ย. 2564 ที่จะมีการเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ และเริ่มเก็บค่าโดยสารสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงแล้วหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์กลับคืนปกติ รฟท.คาดหวังว่าจะสามารถใช้โปรโมชันการปรับลดอัตราค่าโดยสาร การจัดทำตั๋วเดือน เข้ามาใช้เพื่อจูงใจให้เพิ่มผู้ใช้บริการรถไฟสายสีแดง

หากมีการเปิดประเทศ การเดินทางกลับสู่ปกติ สนามบินดอนเมืองเปิด สายการบินให้บริการนักท่องเที่ยวกลับมา คาดหมายว่าสนามบินดอนเมืองจะป้อนผู้โดยสารเข้าสายสีแดงอย่างน้อย 10,000 คน/วัน ขณะที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ทุบโต๊ะห้ามสีแดงขาดทุน...โจทย์สุดหิน! ที่ รฟท.ต้องหาคำตอบให้เจอ...

https:// m.mgronline.com/business/detail/9640000075315