ครึ่งปี 64 รถบรรทุก ยังโต ... เอ็ม เอ เอ็น ชูบริการรุกตลาด

Shopd2

  • *****
  • 2893
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     



เมื่อพูดถึงรถบรรทุก ความสนใจอาจไม่มากเท่ารถยนต์ขนาดเล็กทั่วไป จะเป็น รถเก๋ง ปิกอัพ หรือ เอสยูวี ก็ตาม เพราะเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้ว ตลาดรถบรรทุกมีความสำคัญอย่างมาก และหลายคนกำหนดให้เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ

การที่หลายคนกำหนดให้เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ เพราะแน่นอนว่ารถบรรทุกคงไม่มีใครซื้อไปขับเล่น แต่ซื้อไปสำหรับประกอบอาชีพ ประกอบธุรกิจ ดังนั้นหากตลาดรถบรรทุกมีความเคลื่อนไหวที่ดี ก็แสดงว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีทิศทางที่ดีด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นขนส่ง โลจิสติกส์ เกษตรกรรม หรือว่า ก่อสร้าง เป็นต้น

และสำหรับปีนี้ แม้ว่าตลาดจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 แต่ปรากฏว่าช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา กลับอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มียอดจดทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบก 8,192 คัน เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 

จักรพงษ์ ศานติรัตน์ ผู้อำนวยการ เอ็ม เอ เอ็น ทรัค แอนด์ บัส ประเทศไทย ผู้จำหน่ายรถบรรทุก เอ็ม เอ เอ็น กล่าวว่าตัวเลขจดทะเบียนดังกล่าวเป็นรถขนาด 7 ตัน ขึ้นไป หรือกลุ่มรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่สุดในไทย 

และสิ่งที่น่าสนใจอีกสิ่งหนึ่ง คือ เมื่อดูยอดขายรายเดือน ก็พบว่าเติบโตทุกเดือนเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เห็นภาพว่าตลาดมีทิศทางขาขึ้น 

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงขึ้น ก็ต้องจับตาดูต่อไปว่าจะมีผลมากน้อยแค่ไหน แต่เบื้องต้นเมื่อประเมินตามสถานการณ์ อาจเห็นภาพตลาดรถบรรทุกเติบโตแบบชะลอตัว จนถึงเดือน ต.ค. จากนั้นจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง 


ทั้งนี้มองว่าตลาดรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่เติบโต เป็นเพราะหลายธุรกิจ อุตสาหกรรมขยายตัว รวมถึงภาคขนส่ง แม้ว่าจะมีบางกลุ่มที่สถานการณ์ไม่ดี แต่บางกลุ่มก็ยังเดินหน้าได้ดี

“ผู้ประกอบการขนส่ง-โลจิสติกส์ ก็ปรับตัวเช่นกัน ไม่ได้เสนอแค่เรื่องของการขนส่ง แต่นำเสนอแพคเกจบริการ ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดี ส่วนรายล็ก อาจจะได้รับผลระทบมากกว่า เพราะการแข่งขันรุนแรง ทำให้หลายคนนำเรื่องของราคามาใช้ ทำให้ได้รับผลกระทบมากขึ้น”

และการแข่งขันนำเสนอแพคเกจบริการให้กับลูกค้า มองว่าจะเป็นผลดีต่อตลาดรถยุโรป ซึ่งปัจจุบันยังมีขนาดเล็ก โดยช่วงครึ่งปีมียอดขาย 280 คัน เติบโต 10% ขณะที่ตลาดใหญ่ที่สุดคือรถญี่ปุ่น มียอดขาย 7,561 คัน เติบโต 26% ส่วนอีกตลาดหนึ่งที่เติบโตสูง คือ จีน 196% แต่ว่าขนาดตลาดยังไม่ใหญ่นัก 269 คัน

การที่มองว่าการแข่งขันของภาคขนส่ง-โลจิสติกส์ จะส่งผลดีกับรถยุโรป แม้จะมีราคาที่สูงกว่า แต่ก็เชืื่อว่าจะช่วยให้ภาพลักษณ์ของการดำเนินธุรกิจดีกว่า นำไปสู่การได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น

ในส่วนของ เอ็ม เอ เอ็น ก็มีผลงานที่น่าพอใจ แม้ว่าจะเริ่มทำตลาดเองอย่างจริงจังได้ไม่นาน ช่วงเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว และเริ่มส่งมอบรถได้ช่วงเดือน ธ.ค. แต่ก็สามารถสร้างยอดขายได้ 58 คัน เพิ่มขึ้น 81% มีส่วนแบ่งการตลาด 21% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วทั้งปีที่ทำได้ 9% และมั่นใจว่าเมื่อถึงสิ้นปีจะมียอดขายอย่างน้อย 100 คัน และส่วนแบ่งตลาด 14-15%

แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายของโควิด-19 แต่เอ็ม เอ เอ็น ก็มั่นใจว่าสามารถฝ่าไปได้ โดยกลยุทธ์ที่ใช้ นอกจากด้านตัวสินค้าที่เชื่อว่ามีคุณภาพ และราคาแข่งขันได้ แม้จะเป็นรถนำเข้า (CBU) จาก เยอรมนีแล้ว ก็คือ พันธมิตรทางการเงินที่หลากหลาย

“ผู้ซื้อรถบรรทุกทั้งหมดจะซื้อผ่านไฟแนนซ์ ซึ่งเราจะไม่บังคับ แต่มีพันธมิตรหลายรายให้ลูกค้าเลือก ทำให้สามารถเลือกข้อเสนอที่พึงพอใจที่สุดได้”

นอกจากนี้ก็ยังมีข้อเสนอด้านการบริการ เช่น บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน (Roadside Assistance) ครอบคลุม 24 เดือน ด้วยพันธมิตรที่มีครอบคลุมทั่วประเทศ

“หรือจะเป็นเรื่องการบำรุงรักษา แถมเซอร์วิส คอนแทคท์ 3 ปี หรือ 3 แสน กม. หรือ ออนไซต์ เซอร์วิส บริการบำรุงรักษารถลูกค้าถึงที่ แม้จะแค่คันเดียวก็ตาม ทั้งหมดนี้ทำให้ลูกค้าของเราพึงพอใจมาก”

ทางด้านเครือข่ายจำหน่าย ก็มีแผนจะเปิดเพิ่มหลังจากเปิดที่หาดใหญ่ไปไม่นาน โดยเล็งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่นครราชสีมา และภาคเหนืออีก 1 แห่ง 

https:// www.bangkokbiznews.com/news/detail/951933