เช็กแนวโน้มตลาดหุ้นไทยก่อนลงทุนสัปดาห์หน้า


     

ตลาดหุ้นไทย” เริ่มไตรมาส 4 ไม่ง่าย “น้ำท่วม-ขัดแย้งการเมือง” อาจฉุดเศษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ลงอีก ด้านนโยบายการเงินธนาคารกลาง “สหรัฐ-ยุโรป” กดดันบาทอ่อนดึงฟันด์โฟลว์ไหลออก เตรียมจัดทัพรับความผันผวนใหญ่ ลงทุนหุ้นปัจจัยบวกเฉพาะตัว “กลุ่มซ่อมสร้างหลังน้ำท่วม-กลุ่มเงินบาทอ่อนค่า-กลุ่มเปิดเมืองราคา Laggard”

วันที่ 3 ตุลาคม 2564 บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานแนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า (4-8 ต.ค.) ว่า การระบาด COVID-19 ในประเทศมีพัฒนาการในเชิงบวก หลังจากหลายพื้นที่กระจายวัคซีนได้มากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเริ่มชะลอตัวลงหนุนโอกาสการเปิดประเทศได้ในเดือน พ.ย.64 แต่เริ่มต้นไตรมาส 4 ปัจจัยลบต่างๆ ทยอยเข้ากดดันตลาดหุ้นไทย โดยในประเทศเผชิญเรื่องภาวะน้ำท่วมหลายจังหวัดที่เบื้องต้นคาดว่าจะคลี่คลายได้ช่วงกลางเดือน ต.ค.64 แต่หากยืดเยื้อหรือขยายวงกว้างมาถึงกรุงเทพฯ จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการเดินทางเข้าประเทศไทย อาจฉุดเศษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ลงอีก


ขัดแย้งพรรคแกนนำ เสี่ยงยุบสภา
ส่วนการเมืองภายในแม้ว่ายังอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา แต่จากความขัดแย้งในพรรคแกนนำรัฐบาล อาจทำให้การเมืองเริ่มเสียเสถียรภาพเสี่ยงต่อการยุบสภา โดยต้องรอดูการปรับคณะรัฐมนตรีใน 2 ตำแหน่งที่ว่างลง จะลดแรงกระเพื่อมตรงนี้ลงได้หรือไม่

ส่วนปัจจัยภายนอก ธนาคารกลางสหรัฐ(FED)และธนาคารกลางยุโรป(ECB) เริ่มสงสัญญาณการกลับไปใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยเฉพาะการทำ QE Tapering ของ Fed ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 64 และการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดในปีหน้า หนุนเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลออกจากไทย ทำให้เงินบาทอ่อนค่าหนักที่สุดในรอบ 4 ปี แตะระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ(ดอลลาร์แข็งที่สุดในรอบ 1 ปี) และยังมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้ ส่งผลให้ SET Index มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้





คาด SET แกว่งตัว 15,80-1,640 จุด
คาดดัชนี SET Index แกว่งตัวในกรอบระหว่าง 1,580-1,640 จุด รอติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภายในประเทศและตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ กลยุทธ์การลงทุนเลือกหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว เช่น กลุ่มซ่อมสร้างหลังน้ำท่วม, กลุ่มเงินบาทอ่อนค่า และกลุ่มเปิดเมืองที่ราคายัง Laggard

จับตา 3 ปัจจัยมีผลต่อดัชนี
ประเด็นสำคัญต้องติดตาม 1.การประกาศตัวเลขแรงงานสหรัฐ (8 ต.ค. 64) โดยคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงมาที่ 5.1% และการจ้างงานนอกภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้น 5 แสนตำแหน่ง ทั้งนี้หากออกมาดีกว่าคาดการณ์อาจเร่งให้ FED เพิ่มวงเงินการลด QE และขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งในปีหน้าเพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อ

2.การประชม OPEC+ (4 ต.ค.64) ที่คาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตรองรับอุปสงค์ที่ขยายตัวขึ้น จึงไม่กระทบรุนแรงต่อราคาน้ำมันดิบ และ 3.วิกฤตพลังงานในจีนจากหลายพื้นที่ประสบปัญหาไฟฟ้าดับ หลังจีนต้องการบรรจุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลง (สัดส่วนการใช้ถ่านหินของจีนคิดเป็น 61% ของโลก และขึ้นค่าไฟฟ้าทำให้โรงงานและสายการผลิตหลายแห่งต้องหยุดชะงักลง