สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงระเบียบวิธีปฏิบัติสำนักงานเกี่ยวกับ
การรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ดำเนินการได้อย่างครบถ้วน สอดคล้องกับลักษณะและความเสี่ยงของรูปแบบธุรกรรม ตามมาตรฐานสากลในการให้บริการประชาชน
ก.ล.ต. มีแนวคิดสนับสนุนการทำธุรกรรมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้สามารถดำเนินการอย่างครบถ้วน ครอบคลุมทั้งผู้ส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และผู้สนับสนุนการนำส่งข้อมูล เช่น ผู้จัดทำข้อมูลหรือเตรียมข้อมูลก่อนนำส่งข้อมูลดังกล่าวให้แก่ ก.ล.ต. โดยกระบวนการรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่าง ก.ล.ต. กับผู้ส่งข้อมูลจะต้องมีความสอดคล้องกับลักษณะและความเสี่ยงของรูปแบบธุรกรรม รวมทั้งบริบทต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การเป็นหน่วยงานดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความปลอดภัย ได้มาตรฐานสากลและเป็นไปตามข้อกำหนดของภาครัฐในการให้บริการประชาชน อีกทั้งไม่ทำให้เกิดภาระที่ไม่จำเป็นแก่ผู้ส่งข้อมูล เข้าใจได้ง่าย ปฏิบัติได้จริง มีความชัดเจนในทางกฎหมาย และยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม
ก.ล.ต. จึงเสนอปรับปรุงระเบียบวิธีปฏิบัติสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ปรับปรุงนิยามของผู้ส่งข้อมูลให้ครอบคลุมผู้มีหน้าที่ส่งข้อมูล และผู้มีหน้าที่อื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องในกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นบัญชีผู้ใช้งานสำหรับนิติบุคคลหรือคณะบุคคล (company account) ผู้บริหารบัญชีผู้ใช้งาน (account administrator) และผู้สนับสนุนการนำส่งข้อมูล (ผู้จัดทำหรือเตรียมการข้อมูล) กำหนดบุคคลที่เกี่ยวข้องในการนำส่งข้อมูลต่อ ก.ล.ต. ซึ่งต้องมีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนตามระดับความน่าเชื่อถือที่กำหนด และกำหนดให้นิติบุคคลต้องดำเนินการยื่นคำขอลงทะเบียนบัญชีผู้ใช้งานสำหรับนิติบุคคลหรือคณะบุคคล (company account) นอกจากนี้ ยังได้กำหนดวิธีดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition period) เมื่อระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.
https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=753 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail : phanchul@sec.or.th alisa@sec.or.th และ nuchsara@sec.or.th จนถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2564