จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ถึงลังกาวีทราเวลบับเบิล มาเลเซีย

PostDD

  • *****
  • 1298
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ MH1432 ออกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย ลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติลังกาวี เมื่อเวลา 10.32 น. ของวันที่ 16 กันยายน 2564 มีผู้โดยสารรวม 159 คน

นับเป็น เที่ยวบินปฐมฤกษ์ หลังจากที่เกาะลังกาวี รัฐเคดะห์ เปิดรับนักท่องเที่ยวตามมาตรการ “ลังกาวี ทราเวล บับเบิล” (Langkawi Travel Bubble) เพิ่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

รถน้ำดับเพลิง 2 คัน ทำอุโมงค์น้ำ หรือ Water Salute ต้อนรับเที่ยวบินนี้ ซึ่งทำการบินด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ด้วยความชื่นมื่น เสมือนเฉลิมฉลองการกลับมาของนักท่องเที่ยว หลังห่างหายไปนานเกือบ 2 ปี

ขณะที่ท่าเรือเจ็ทตี้ ที่ข้ามฟากมายังเกาะลังกาวี เฉพาะวันแรกมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนบนเกาะกว่า 700 คน ผ่านเรือเฟอร์รี 3 ลำ โดยลำแรกมีผู้โดยสาร 86 คน ลำที่สอง 290 คน และลำที่สาม 333 คน

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ภาพเหล่านี้ก็เคยเกิดขึ้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา กับเครื่องบินของสายการบินเอทิฮัด เที่ยวบินที่ EY430 จากกรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พร้อมผู้โดยสาร 25 คน

หลังจากรัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่ต้องกักตัว ตามโครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) โดยต้องมีเอกสารและการจองโรงแรมตามที่กำหนด ได้รับวัคซีนครบโดส มีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบไม่เกิน 72 ชั่วโมง

รัฐบาลมาเลเซีย เรียนรู้การเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ของไทย และโครงการเปิดเกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย มาพิจารณา ก่อนที่จะลงเอยด้วยการทำทราเวลบับเบิล นำร่องที่เกาะลังกาวี ต้อนรับนักท่องเที่ยวในประเทศที่ฉีดวัคซีนครบแล้วเป็นหลัก

ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของมาเลเซียต่างคาดหวังว่า ทราเวล บับเบิล จะเป็น แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะต่างก็บอบช้ำจากมาตรการล็อกดาวน์ และไม่สามารถอยู่ได้ด้วยเงินเยียวยาจากรัฐบาลมาเลเซียตลอดไป

ภาพ : การท่องเที่ยวมาเลเซีย
ภาพ : การท่องเที่ยวมาเลเซีย

เกาะลังกาวี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซีย ห่างจากชายฝั่งเมืองกัวลาเปอร์ลิสประมาณ 30 กิโลเมตร และเมืองกัวลาเกดะห์ 51 กิโลเมตร ได้รับฉายาว่า “อัญมณีแห่งเคดะห์” (Jewel of Kedah) มีหมู่เกาะเล็กเกาะน้อย 99 เกาะ

เป็นเกาะที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติ มีอุทยานธรณีโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก้ พร้อมกับความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเที่ยวชายหาด หรือการชอปปิ้งสินค้าปลอดภาษี

ก่อนสถานการณ์โควิด-19 มีผู้มาเยือนเกาะลังกาวีมากกว่า 3.9 ล้านคน เมื่ออยู่ใกล้ประเทศไทย ก็มีนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนหนึ่ง นั่งเรือโดยสารจากท่าเรือตำมะลัง จ.สตูล เพียง 1 ชั่วโมง มายังเกาะลังกาวี เพื่อเข้าไปชอปปิ้งสินค้าดิวตีฟรีที่นั่น

ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ชายแดนไทย-มาเลเซีย ทั้งทางบกและทางน้ำถูกปิดกั้นอย่างเข้มงวด เช่นเดียวกับมาตรการทราเวลบับเบิล ก็เดินทางได้เฉพาะเรือเฟอร์รีจากฝั่งมาเลเซียเท่านั้น ส่วนคนไทยยังข้ามแดนไปเที่ยวเกาะลังกาวีไม่ได้

แต่ชาวมาเลเซียที่จะเข้ามาเที่ยวเกาะลังกาวี ผ่านทราเวลบับเบิล ก็ไม่ได้ง่ายดายแบบปล่อยปะละเลย ไร้การควบคุม โดยเฉพาะคนที่มาจากพื้นที่ภายใต้คำสั่งควบคุมการสัญจรขั้นสูงสุด หรือ EMCO จะห้ามเข้าเกาะลังกาวี 

กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย กำหนดให้คนที่จะไปเที่ยวเกาะลังกาวี ตามโครงการทราเวล บับเบิล ต้องฉีดวัคซีนครบโดส ได้แก่ ไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค 2 เข็ม ไม่น้อยกว่า 14 วัน, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แคนซิโน ไม่น้อยกว่า 28 วัน

ขณะเดียวกัน ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR หรือ RTK-Antigen จากโรงพยาบาลหรือแลปภายใน 48 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ถ้าไม่สะดวกให้ซื้อชุดตรวจด้วยน้ำลาย (Saliva) มาตรวจด้วยตัวเองที่จุดคัดกรองในสนามบินหรือท่าเรือ

ภาพ : Malaysia Airports
ภาพ : Malaysia Airports

อย่างเช่น ท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ (KLIA) ที่ชั้น 5 (หรือ KLIA2 ชั้น 3) จะเป็นจุดคัดกรองผู้โดยสารก่อนเดินทาง ใครไม่ได้เตรียมชุดตรวจหรือผลตรวจโควิดมา จะมีชุดตรวจด้วยน้ำลายจำหน่าย ซื้อแล้วก็ตรวจที่นั่น

สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ต้องเดินทางพร้อมกับพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว โดยเด็กตั้งแต่อายุ 7 ปีขึ้นไป ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยน้ำลาย ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีต้องตรวจสุขภาพที่จุดคัดกรอง

ก่อนเดินทาง ต้องแสดงหลักฐานที่เคาน์เตอร์เช็กอิน ได้แก่ ผลรับรองการฉีดวัคซีนครบโดสผ่านแอปฯ MySejahtera ผลการตรวจโควิด-19 ที่เป็นลบ หลักฐานจองที่พักหรือสถานที่ท่องเที่ยว และต้องเตรียมไว้เพื่อนำไปยืนยันที่สนามบินลังกาวี

จากขั้นตอนที่ยุ่งยากดังกล่าว สายการบินต้องแจ้งให้ผู้โดยสารว่า เผื่อเวลาเดินทางมาถึงสนามบินล่วงหน้าอย่างน้อย 4 ชั่วโมง และแนะนำให้เช็กอินออนไลน์ผ่านแอปฯ มือถือ เว็บไซต์สายการบิน หรือตู้คีออสในสนามบิน

ส่วนคนที่เดินทางด้วยเรือเฟอร์รี ถ้าพักค้างแรมที่รัฐเคดะห์ หรือรัฐปะลิส สามารถข้ามมาเที่ยวได้เลย แต่คนที่นั่งเรือมาจากรัฐอื่น เช่น ปีนัง จะต้องผ่านบริษัทนำเที่ยว (Travel Agent) ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ มาเลเซีย

รัฐบาลมาเลเซียอนุญาตให้เข้าไปเกาะลังกาวีได้เฉพาะเพื่อท่องเที่ยว ทั้งแบบไป-กลับหรือค้างคืน โดยต้องมีหลักฐานตั๋วเครื่องบินหรือเรือเฟอร์รี กับใบจองที่พัก คนที่มาด้วยวัตถุประสงค์อื่น เช่น เรื่องธุรกิจ จะต้องมีใบอนุญาตจากตำรวจ

ส่วนนักท่องเที่ยวที่มาโดยซื้อแพกเกจทัวร์จากบริษัทนำเที่ยว บริษัทนั้นจะต้องได้รับอนุญาตและลงทะเบียนกับกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะและวัฒนธรรมของมาเลเซีย และต้องเตรียมหลักฐานใบจองแพ็คเกจทัวร์ นำมาแสดงเมื่อร้องขอ

นายไครี จามาลุดดิน รัฐมนตรีสาธารณสุขของมาเลเซีย กล่าวว่า การทำทราเวลบับเบิลจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ คลัสเตอร์ใหม่ โดยต้องมีหลักประกันว่าทุกคนได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว

ภาพ : JKJAV
ภาพ : JKJAV

รัฐบาลมาเลเซียมีแผนที่จะเปิดเมืองเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มเติม เมื่ออัตราการฉีดวัคซีนถึง 80% ขึ้นไป ปัจจุบันฉีดวัคซีนไปแล้ว 18.13 ล้านคน คิดเป็น 77.5% ของประชากร ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 มี 21.86 ล้านคน คิดเป็น 92.9%

ขณะที่ภาคธุรกิจ หลังรัฐบาลนำร่องมาตรการทราเวลบับเบิล พบว่าสายการบินแต่ละแห่งเปิดเที่ยวบินเส้นทางลังกาวีอย่างคึกคัก เช่น สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เปิดเที่ยวบินเส้นทางลังกาวี 33 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ส่วน สายการบินแอร์เอเชีย มาเลเซีย นอกจากจะเปิดเที่ยวบินจากกัวลาลัมเปอร์ ปีนัง ยะโฮร์บาห์รู และโกตาบารู รวมกว่า 90 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ พร้อมกับเปิดบริการเรียกรถรับ-ส่งน้องใหม่ “แอร์เอเชียไรด์” (Airasia Ride) ต่อจากกัวลาลัมเปอร์

อีกทั้งร่วมมือกับ หน่วยงานเพื่อการพัฒนาเกาะลังกาวี (LADA) พัฒนาให้เป็นแหล่งชอปปิ้งปลอดภาษีออนไลน์แห่งแรกในอาเซียน ด้วยการชอปปิ้งดิวตีฟรีแบบดิจิทัลไร้สัมผัส แล้วจัดส่งผ่านบริการ Teleport ไปยังโรงแรมที่พักภายใน 6 ชั่วโมง

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต
ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

กลับมาที่ประเทศไทย หลังยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุหลักหมื่นรายต่อวัน จังหวัดภูเก็ตได้เข้มงวดทั้งช่องทางด่านท่าฉัตรไชยและท่าอากาศยานภูเก็ตเป็นพิเศษ นอกจากจะต้องฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ยังต้องมีผลตรวจโควิด-19 ภายใน 72 ชั่วโมงอีกด้วย

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 17 กันยายน 2564 มีนักท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สะสม 33,413 คน ส่วนยอดจองโรงแรม จำนวนคืนของผู้เข้าพัก SHA+ ถึงเดือนกันยายน รวม 532,213 คืน ส่วนเดือนตุลาคม 2564 ถึงกุมภาพันธ์ 2565 มี 83,795 คืน

ขณะนี้กำลังหารือมาตรการเดินทางเข้าเกาะภูเก็ต ภายใต้หลัก "ลดการติดเชื้อ เศรษฐกิจเดินได้" โดยปรับผลตรวจโควิดจากเดิมไม่เกิน 72 ชั่วโมง เป็นไม่เกิน 7 วัน พร้อมเสนอให้ภาครัฐตั้งจุดตรวจโควิดที่สนามบินต้นทาง กรณีนำชุดตรวจ ATK มาเอง

ส่วนจังหวัดอื่นๆ เนื่องจากการควบคุมเข้า-ออกเป็นไปอย่างยากลำบาก จึงใช้วิธีลงทะเบียนเข้าพื้นที่ บางจังหวัดอนุโลมให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เข้าจังหวัดโดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ใช้มาตรการ ทราเวลบับเบิล ระหว่างจังหวัด แต่ก็เริ่มมีผู้คนเริ่มไปมาหาสู่กันได้แล้ว ขณะที่การฉีดวัคซีนคืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ และยอดผู้ป่วยทรงตัว นับจากนี้อาจจะได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลส่งท้ายปี

โดยเฉพาะโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 อีก 2 ล้านสิทธิ โครงการทัวร์เที่ยวไทย 1 ล้านสิทธิ งบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท และเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง งวดที่ 2 ที่จะจ่ายให้ประชาชนในเร็วๆ นี้