บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค (TEPCO) ผู้บริหารโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะของญี่ปุ่น แถลงแผน
ขุดอุโมงค์ใต้ทะเลเพื่อระบายน้ำปนเปื้อนรังสีกว่า 1 ล้านตันที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ลงสู่มหาสมุทร
โครงการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ทะเลความยาว 1 กิโลเมตรได้รับการเปิดเผยเมื่อวันพุธ (25 ส.ค.) หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจเมื่อเดือน เม.ย. ว่าจำเป็นจะต้องทยอยปล่อยน้ำที่กักเก็บไว้ลงสู่ทะเล โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี
คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นยืนยันว่า แผนการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะมีความปลอดภัย เพราะจะต้องผ่านกระบวนการกรองเพื่อกำจัดสารกัมมันตรังสีอันตรายออกเกือบหมด จากนั้นจึงนำไปเจือจางอีก ก่อนจะปล่อยออกสู่ทะเล
อย่างไรก็ตาม ประกาศจากรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อเดือน เม.ย. ยังคงสร้างความวิตกกังวลต่อประเทศเพื่อนบ้าน และจุดกระแสคัดค้านอย่างรุนแรงจากชุมชนชาวประมงในท้องถิ่น
เทปโก ระบุว่า งานก่อสร้างอุโมงค์จะเริ่มในราวๆ เดือน มี.ค. ปี 2022 หลังจากที่บริษัททำการศึกษาความเป็นไปได้ และได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อุโมงค์ดังกล่าวจะมีความกว้างประมาณ 2.5 เมตร ทอดยาวไปทางตะวันออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก และเชื่อมต่อกับแทงก์ที่โรงไฟฟ้าใช้เก็บกักน้ำซึ่งผ่านการบำบัดแล้ว
ปัจจุบันมีน้ำปนเปื้อนรังสีกว่า 1.27 ล้านตันถูกเก็บอยู่ในแทงก์ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ซึ่งมีทั้งน้ำที่ใช้หล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ซึ่งเกิดการหลอมละลายหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2011 รวมไปถึงน้ำฝนและน้ำใต้ดินที่ไหลซึมเข้ามาทุกๆ วัน
โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีระบบปั๊มและกรองน้ำที่เรียกกันว่า Advanced Liquid Processing System (ALPS) ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียได้วันละหลายตัน และกรองเอาสารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ออกไป
กระนั้นก็ตาม ชุมชนชาวประมงในท้องถิ่นยังเกรงว่าการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าจะทำลายความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของอาหารทะเลจากจังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะกอบกู้คืนมาได้
อะกิระ โอโนะ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมการปิดโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ยืนยันเมื่อวันพุธ (25) ว่า การปล่อยน้ำผ่านอุโมงค์จะช่วยป้องกันไม่ให้มวลน้ำไหลกลับเข้าสู่ชายฝั่ง
ทั้งนี้ เทปโก ระบุว่ายินดีที่จะจ่ายค่าชดเชยการเสื่อมเสียชื่อเสียงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการปล่อยน้ำลงสู่ทะเล และพร้อมให้เจ้าหน้าที่จากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เข้าตรวจสอบความปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมา IAEA ก็ออกมาประกาศรับรองการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว
นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ แห่งญี่ปุ่น ระบุว่า การปล่อยน้ำออกจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะเป็น “ภารกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” ในกระบวนการปิดโรงไฟฟ้าซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลายาวนานหลายสิบปี
ที่มา: เอเอฟพี