ทีเส็บเผย 3 กลยุทธ์โปรโมตไมซ์ รอสนับสนุนงบอีกกว่า 1 พันงาน

Shopd2

  • *****
  • 2893
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมไมซ์ไทย การจัดงาน “ไมซ์ไทยรวมใจสร้างชาติ” ในรูปแบบออนไลน์ (Virtual Meeting) จึงจัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้และความเจริญสู่ชุมชน ตลอดจนแสดงความพร้อมของเมืองไมซ์ซิตี้ในฐานะศูนย์กลางภูมิภาคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และใช้โอกาสนี้เป็นเวทีนำเสนอทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในปี 2565 ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการไมซ์ ซึ่งมีจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมชมงานกว่า 800 คน



โดยภายในงานมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมให้ข้อมูลและเสวนา ได้แก่ นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น, นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี, นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และนายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต

“ทีเส็บ ในฐานะองค์กรภาครัฐ พัฒนาแผนงานให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาล โดยวางทิศทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในปีหน้าผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การเสริมความแกร่งระดับชาติ การช่วงชิงโอกาสระดับสากล และการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรม เพื่อเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ และเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากวิกฤต ต้องอาศัยทั้งความยืดหยุ่นและการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง เพื่อนำพาอุตสาหกรรมไมซ์และเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นกลับมาโดยเร็วที่สุด”

ภายใต้กลยุทธ์การเสริมความแกร่งระดับชาติ ทีเส็บเร่งยกระดับความพร้อมของจังหวัดที่มีศักยภาพ ก้าวสู่การรองรับกิจกรรมไมซ์ พร้อมกับการสร้างงานใหม่ และยกระดับกิจกรรมไมซ์ให้มีคุณภาพระดับนานาชาติ โดยร่วมทำงานกับพันธมิตรทุกภาคส่วน เช่น โครงการ Empower Thai Exhibition หรือ EMTEX ซึ่งได้ขยายความร่วมมือระหว่างทีเส็บกับกระทรวงต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่าสิบหน่วยงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพงานแสดงสินค้าในระดับท้องถิ่นก้าวสู่ระดับประเทศ ตลอดจนการพัฒนางานเทศกาลท้องถิ่นภายใต้แนวคิด Festival Economy ที่จะพัฒนางานต่อยอดสู่ระดับสากล 1 City : 1 License Event เช่น งานเทศกาล “เกลือ-เมือง-เพชร หรือ Diamond of the Salt Festival ของจังหวัดเพชรบุรี, งานเทศกาล Huahin Hop Fest ของเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น



พร้อมกันนี้ ยังดำเนินงานด้านการสื่อสาร เพื่อกระตุ้นและขับเคลื่อนองค์กรภาครัฐและเอกชนจัดประชุมสัมมนาและจัดกิจกรรมไมซ์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ผ่านแคมเปญการสื่อสาร “จัดงานไมซ์ทั่วไทย ภูมิใจช่วยชาติ” และสนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการ “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” ซึ่งในขณะนี้มีองค์กรและหน่วยงานได้รับการสนับสนุนแล้วกว่า 645 โครงการ และแสดงความจำนงมากกว่า 1,000 งาน

กลยุทธ์การช่วงชิงโอกาสระดับสากล มุ่งเน้นการผลักดันไมซ์ไทยสู่เวทีโลก จัดทำแคมเปญตลาดเชิงรุกเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในภูมิภาคอาเซียน โดยการประกาศปีแห่งการประชุมในประเทศไทยด้วยการต่อยอดจากการเป็นเจ้าภาพจัดงาน APEC 2022 อีกทั้งจะเร่งดึงงานสำคัญระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย เช่น งาน Thailand International Air Show, งานประชุมองค์กรระหว่างประเทศ เช่น งาน World Bank หรืองานแสดงสินค้าระดับท็อปไฟว์ของโลก

กลยุทธ์การยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรม มุ่งสานต่อการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการไมซ์ และหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐในและต่างประเทศ ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากร มาตรฐานสถานที่จัดงาน และการพัฒนาหลักสูตรอบรมต่างๆ เพื่อให้ไมซ์ไทยก้าวทันความต้องการของโลกในยุคหลังโควิด เช่น การยกระดับมาตรฐานและส่งเสริม “การจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืน” โดยนำแนวคิด BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล มาต่อยอดกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) ขณะเดียวกัน ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีและเครื่องมือแพลตฟอร์มดิจิทัลต่อเนื่อง อาทิ แพลตฟอร์ม “Thai MICE Connect” ที่มีข้อมูลผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วกว่าหมื่นรายทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นตลาดออนไลน์ซื้อขายบริการด้านไมซ์ รองรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงตลาดให้ผู้ประกอบการทุกขนาด

ทั้งนี้ ทีเส็บสานต่อการจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “ไมซ์ไทยรวมใจสร้างชาติ” เตรียมเปิดนิทรรศการรูปแบบออนไลน์ (Virtual Exhibition) ให้ความรู้ถึงจุดกำเนิด และการเดินทางของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความภาคภูมิใจของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยจะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนเป็นต้นไป และสามารถดาวน์โหลดหนังสือ “ภูมิไทย” เส้นทางทรงคุณค่าของอุตสาหกรรมไมซ์ ที่ทีเส็บจัดทำร่วมกับกองทุนส่งเสริมการประชุมนานาชาติ