PURE ลุยไลน์ผลิตใหม่ รับออเดอร์ 'วอลมาร์ท' ปีหน้าพุ่ง

Fern751

  • *****
  • 2163
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
A

'อกริเพียว โฮลดิ้งส์' หนึ่งในธุรกิจของ 'โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ' กำลังเนื้อหอม รายได้โตโดดเด่นนักลงทุนสนใจเพียบ !! ทายาทรุ่น 2 'สุเรศพล จึงรุ่งเรืองกิจ' เร่งเพิ่มไลน์ผลิต ป้อนค้าปลีกระดับโลก 'วอลมาร์ท' ตั้งเป้า 5 ปี สัดส่วนแบรนด์ 'เทสตี้' เพิ่มเป็น 25%

เลิกลงทุนหุ้นหลังพอร์ตขาดทุนตลอด !! นี่อาจจะเป็นสิ่งเดียวที่ 'สุเรศพล จึงรุ่งเรืองกิจ' ทายาทของ 'โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ' เป็นลูกไม้หล่นไกลต้น แต่ในบทบาทของ 'นักธุรกิจ' ถือว่าประสบความสำเร็จ สะท้อนผ่านพลิกธุรกิจจากขาดทุนเป็นกำไร ซึ่งคุณพ่อ โกมลวางใจให้บริหารและตัดสินใจทั้งหมด และมักจะถูกวางตัวให้ไปลุยงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง 'ตอนนี้พ่อไม่เข้าออฟฟิศมา 2-3 ปีแล้ว…แกอาจจะกำลังสนุกกับการลงทุนในตลาดหุ้น'  

ในแวดวงตลาดหุ้นทุกคนรู้จัก 'โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ' นักลงทุนรายใหญ่ที่ปรากฎรายชื่อในหุ้นหลายตัวมูลค่าพอร์ตหลัก 'พันล้าน' และประธานกรรมการบริษัท ซัมมิท ฟุตแวร์ จำกัด ผู้ผลิตรองเท้าแบรนด์ แอร์โรซอฟท์ (Aerosoft) ม้ามืดสร้างเซอร์ไพร์สในการคว้าซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ฟุต.ยูโร 2020 มูลค่า 310 ล้านบาท ก่อนการถ่ายทอดสดจะเริ่มขึ้นไม่กี่ชั่วโมง 

อีกหนึ่งธุรกิจของ 'โกมล' ปัจจุบันยกหน้าที่ดูแลกิจการให้ 'สุเรศพล จึงรุ่งเรืองกิจ' ลูกชายคนที่ 2 ใน บริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APURE ผู้ประกอบการธุรกิจบริษัทลงทุน (Holding Company) ดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อยซึ่งดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแปรรูป ประเภทข้าวโพดบรรจุกระป๋อง ผัก ผลไม้สด และเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด 

ปัจจุบัน APURE ถือเป็นหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวหวือหวา ซึ่งราคาหุ้นล่าสุดอยู่ที่ 8.60 บาท (19 ส.ค.) จากปี 2563 ราคาหุ้นอยู่ที่ 2.12 บาท (30 ธ.ค.63) โดยราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมากว่า 305.66% หลังนักลงทุนมองภาพธุรกิจมีโอกาสสร้างเติบโตโดดเด่นในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สะท้อนผ่านผลประกอบการปี 2563 มีกำไรสุทธิ 319.62 ล้านบาท จากปี 2562 กำไรสุทธิ 29.14 ล้านบาท และล่าสุดไตรมาส 2 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 86.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65.04% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน 

'สุเรศพล จึงรุ่งเรืองกิจ' ประธานกรรมการ APURE ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ' ว่า ยอมรับมีนักลงทุนรายใหญ่หลายรายติดต่อขอซื้อหุ้น APURE ซึ่งเท่าที่ทราบจะติดต่อผ่านคุณพ่อ เพราะตัวเองไม่ถนัดเรื่องหุ้นจะเน้นเรื่องการบริหารงานมากกว่า ดังนั้น โจทย์ที่บอกพ่อหากจะมีการนักลงทุนเข้ามาถือหุ้นอยากได้เป็นนักลงทุนที่เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์และช่วยสร้างการเติบโตของธุรกิจไปด้วยกัน ไม่อยากได้นักลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไรในแง่ของราคาหุ้นอย่างเดียว หรือแม้แต่ผู้ประกอบการที่อยู่ในแวดวงธุรกิจเดียวกันมาเป็นพันธมิตรส่งเสริมและโตไปด้วยกัน 

11 ปีก่อน 'สุเรศพล' ถูกวางตัวเข้ามารับหน้าที่ดูแลบริษัท ซึ่งตอนนั้นมองเห็นว่าธุรกิจสามารถทำกำไรได้ แต่การบริหารไม่สามารถสร้างกำไร (ธุรกิจขาดทุน) จากต้นทุนบริหาร-วัตถุดิบสูง และผลิตภัณฑ์ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ (ดีมานด์) ของตลาดที่แท้จริง ในยุคปัจจุบันได้ ทำให้บริษัทปรับโมเดลธุรกิจใหม่ด้วยการออกแพคเกจจิ้ง (Packaging) ใหม่ ในรูปแบบ ถุงสุญญากาศ , ถ้วยตักรับประทานได้ทันที จากเดิมที่เป็นข้าวโพดบรรจุกระป๋องอย่างเดียว 

สำหรับ แพ็คเกจจิ้งในรูปแบบใหม่บริษัทลงทุนผ่านการทำตลาดข้าวโพดหวานบรรจุถุงสูญญากาศและถ้วยภายใต้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ตัวเองอย่าง แบรนด์ 'เทสตี้' เนื่องจากแพคเกจจิ้งที่เป็นรูปแบบถุงสุญญากาศและถ้วย เป็นแพคเกจจิ้งที่กระบวนการผลิตยากมีเพียงผู้ประกอบ 4 รายใหญ่ที่ทำได้ ทำให้สินค้าดังกล่าวมี 'มาร์จินสูง' ดังนั้น บริษัทต้องการให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นตัวเปิดตลาดภายใต้แบรนด์ของบริษัท 

โดยเป้าหมายแผนธุรกิจ 3-5 ปีข้างหน้า (2564-2568) ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์ตัวเองเพิ่มเป็น 25% จากปัจจุบันที่ 10% และสัดส่วนรายได้มาจากรับจ้างผลิต (OEM) 80-90% โดยกำลังการผลิตสินค้าใหม่อยู่ที่ 800 ตู้คอนเทนเนอร์ ขณะนี้มียอดขาย 300-400 ตู้คอนเทนเนอร์ ตลาดส่งออกหลักๆ เช่น ญี่ปุ่น ,สหรัฐ และในตอนนี้อยู่ระหว่างทำตลาดกลุ่มแพ็คเกจจิ้งใหม่ในยุโรป เจรจากับตัวแทนจำหน่ายหลักที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยเริ่มส่งสินค้าไปเมื่อปลายปีก่อน ได้รับกระแสตอบรับที่ดี หลังสินค้าได้ลองว่างจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตเกาหลีใต้ 3-4 แห่ง 

รวมทั้งกำลังศึกษานำสินค้าข้าวโพดหวานแพ็คเกจจิ้งใหม่ภายใต้แบรนด์ของตัวเองขยายตลาดเข้าไปในสหรัฐและยุโรปด้วย โดยเบื้องต้นมี 2 แนวทางคือ 1.ลงทุนสร้างโรงงานใหม่ที่สหรัฐ และ 2.จำหน่ายเข้าไปผ่านตัวแทน ซึ่งคาดว่าความเป็นไปได้มากสุดจะเป็นการจำหน่ายเข้าไปผ่านตัวแทนเนื่องจากใช้เวลาไม่นาน ดังนั้น คาดว่าในปี 2565 จะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว 

เขา บอกต่อว่า ในผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องบริษัทจะเน้นเพิ่มส่วนแบ่งตลาดมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่อง อย่าง ญี่ปุ่น , เกาหลีใต้, ไต้หวัน รวมทั้งขยายตลาดไปยัง สหรัฐ และ สหภาพยุโรป เนื่องจากในกลุ่มประเทศดังกล่าวมีความต้องการสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งเฉพาะในสหรัฐหลังบริษัทได้เซ็นสัญญากับคู้ค้ารายใหญ่ อย่าง 'วอลมาร์ท' (Walmart) ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่จากสหรัฐที่มีความต้องการซื้อสูง ปัจจุบันบริษัทส่งสินค้าข้าวโพดบรรจุกระป๋องขนาด 15 ออนซ์ 

โดยบริษัทเริ่มทยอยส่งออเดอร์ตั้งแต่ปลายปีก่อน จากออเดอร์ 100 ตู้คอนเทนเนอร์ ก่อนขยับเป็น 300 ตู้คอนเทนเนอร์ และล่าสุดจำนวน 1,400 ตู้คอนเทนเนอร์ คิดเป็นรายได้ราว 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำลังการผลิตที่บริษัททำได้ตอนนี้ จากครั้งแรกวอลมาร์ทเปิดวอลุ่มมาคือ 4,400 ตู้คอนเทนเนอร์ คิดเป็นรายได้ราว 2,200 ล้านบาท แต่บริษัทเจรจาขอส่งออเดอร์ให้วอลมาร์ท 2,200 ตู้คอนเทนเนอร์ คิดเป็นรายได้ราว 900 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถส่งออเดอร์ดังกล่าวได้ในปี 2565 

หลังปี 2564 บริษัทลงทุนเครื่องจักรใหม่เพื่อขยายไลน์การผลิตเพิ่มอีก 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งในอนาคตกำลังผลิตที่เหลือคาดว่าจะส่งออเดอร์ให้วอลมาร์ทในประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นแผนการกระจายความเสี่ยงที่ไม่อยากพึ่งพาคู่ค้ารายใหญ่เพียงรายเดียว 


จากการศึกษาตลาดสหรัฐ พบว่า ผู้บริโภคชื่นชอบรสชาติของข้าวโพดบรรจุกระป๋อง ทำให้ตอนนี้บริษัทมีคู่ค้ารายใหญ่ที่เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าส่ง-ปลีกขนาดใหญ่ (โฮลเซล) หลายรายติดต่อเข้ามา จากการสำรวจความต้องการข้าวโพดกระป๋องในตลาดสหรัฐคาดราว 70,000-80,000 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยสัดส่วน 70% มาจากข้าวโพดภายในสหรัฐ และอีก 30% หรือราว 30,000-40,000 ตู้คอนเทนเนอร์ นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งถือเป็นโอกาสของบริษัท เนื่องจากบริษัทได้เปรียบที่ข้าวโพดของไทยราคาต่ำกว่าคู่แข่งในตลาด 

รวมทั้งเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในประเทศอังกฤษ จากความต้องการต่อปีอยู่ที่ประมาณ 5,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทส่งออกไปตลาดอังกฤษแค่ 300-400 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งอนาคตมองว่าจะส่งออกไป 1,200-1,500 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือราว 30% ของตลาดอังกฤษ 


สำหรับปีนี้ตั้งเป้ารายได้เติบโต 20-30% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,991 ล้านบาท บริษัทมีออเดอร์ล่วงหน้ามากกว่า 3,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก 20% เนื่องจากดีมานด์บรรจุอาหารประเภทกระป๋อง มีความต้องการสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องมีการปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในประจำวัน เพื่อลดความเสี่ยงการติดโควิด-19 

ท้ายสุด 'สุเรศพล' ทิ้งท้ายไว้ว่า ในอนาคตระยะยาวบริษัทจะมีแพคเกจจิ้งใหม่ๆ อีก รวมทั้งขายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของตัวเองในตลาดต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีมาร์จินสูงซึ่งจะสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างโดดเด่น