อีอีซี บนเส้นทางวิถีใหม่ แห่งความยั่งยืน

Joe524

  • *****
  • 2200
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


การพัฒนาในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตและเกิดความเจริญในหลายด้าน แต่การพัฒนาที่ผ่านมานั้นก็ได้สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ทั่วโลกจึงตื่นตัวในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในปี ค.ศ. 2000 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ได้ร่วมรับรองเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ตั้งเป้าบรรลุการสร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ในปี ค.ศ. 2015 อย่างไรก็ตาม ผลการพัฒนายังมิได้บรรลุเป้าหมาย ยูเอ็นจึงได้ริเริ่มกระบวนการหารือใหม่ โดยวางกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในปี ค.ศ. 2030

เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เช่น การขจัดความยากจน การขจัดความหิวโหย  การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ  การมีน้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ดี พลังงานสะอาด การส่งเสริมงานที่มีคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การรับมือกับสภาพภูมิอากาศ

หลายองค์กรยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ สภาพัฒน์ฯได้ยึดเป้าหมาย SDGs ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดความยั่งยืนเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ 3 ปี (พ.ศ.2563-2565) และส่งเสริมให้สถาบันการเงินตระหนักถึงความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำรายงานความยั่งยืน ขณะที่สมาคมธนาคารไทย ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานโครงการ Sustainable Banking และต่อมาได้มีการจัดตั้งฝ่ายงานด้านนี้ขึ้นในธนาคารพาณิชย์

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ก็มีบทบาท “ฐานผลิตอุตสาหกรรมใหม่” ผ่านกระบวนการดำเนินธุรกิจใหม่ที่คำนึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลหรือ ESG ให้มากขึ้น ซึ่ง “บนเส้นทางวิถีใหม่แห่งความยั่งยืน” จะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว มีการผลักดันจากระดับบนสู่ล่าง (Tone from the top) เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมให้กับพนักงานทุกระดับ เกิดพลังร่วมในการขับเคลื่อน

หลายองค์กรที่เข้ามาลงทุนในอีอีซีต่างก็ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ส่งเสริมจริยธรรมการทำงานที่ดี พัฒนานวัตกรรมหรือกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่วินาทีนี้ต้องตระหนักถึงการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายมากขึ้น (Meaningful Engagement) อาทิ มลพิษทางอากาศไม่เกินค่ามาตรฐาน การรักษาคุณภาพน้ำ การไม่มีสิ่งปนเปื้อนของสารโลหะหนักชายทะเล เป็นต้น

หลังโควิด-19 คลี่คลาย ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวก และทำงานแทนคน ลดการติดต่อหรือการสัมผัสกัน ธุรกิจจะเข้าสู่ระบบอีคอมเมิร์ซมากขึ้น รวมถึงระบบห่วงโซ่อุปทานที่จะถูกตัดทอนให้สั้นลง

กระแสการย้ายฐานการผลิตของบริษัทจากต่างชาติที่มีมาก่อนโควิด-19 ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กำหนดทิศทางการลงทุนอันเนื่องมาจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน หลายบริษัทจึงอยู่ระหว่างตัดสินใจหา “ฐานที่มั่น” การลงทุนใหม่ หนีภัยเทรดวอร์มายังประเทศหนึ่งในอาเซียน ระหว่างเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย

“อีอีซี บนเส้นทางวิถีใหม่แห่งความยั่งยืน” ยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมาก ทั้งปัจจัยระยะสั้นที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือ การระบาดโควิด-19 ที่รุนแรง กระทบต่อกำลังการผลิต ตู้สินค้าไม่เพียงพอ ค่าระวางเรือขาขึ้น การขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิพ) ที่เกิดขึ้นในบางอุตสาหกรรม ปัจจัยระยะกลางที่กำลังมุ่งสู่ทิศทางอุตสาหกรรมใหม่ รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างระยะยาว อาทิ สังคมสูงอายุ การดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน