โควิด-19 สายพันธุ์ 'เดลตา' วิกฤติไทย ที่ยังไม่ถึงจุดพีค

Jenny937

  • *****
  • 1932
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     


การระบาดของโควิด 'เดลดา' ในไทย ทำให้มีผู้ป่วยรายใหม่สูงสุดมากกว่าสองหมื่นราย เสียชีวิตเพิ่มสองร้อยกว่าราย และคาดว่ายังไม่ถึงจุดสูงสุด ปรากฏการณ์ดังกล่าวคล้ายๆ กับหลายประเทศที่กลับมาระบาดอีกครั้งหลังเดลตากระจาย 132 ประเทศทั่วโลก

เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งกระจาย 132 ประเทศทั่วโลก ไม่เพียงแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา 60% แต่มีหลักฐานว่าก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงและอันตรายมากกว่าสายพันธุ์เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นอกจากนี้ ยังพบผู้ที่มีอาการรุนแรงในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยลง ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบไม่ว่าชนิดไหน มีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ ไม่แตกต่างจากผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน แต่อาการมักไม่รุนแรง


ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ออกแนวปฏิบัติล่าสุด 27 ก.ค. แก้ไขจากแนวคิดเดิม เนื่องจากสหรัฐ มีการแพร่ระบาดของเดลตา ขณะเดียวกัน การฉีดวัคซีนยังไม่ไปถึงจุดที่ควรจะเป็น โดยแนะนำ เร่งฉีดวัคซีนโควิดให้เร็วมากขึ้นและกลับมาแนะนำว่าขอให้ประชาชนอเมริกัน ไม่ว่าจะไปที่ใดขอให้พิจารณาเรื่องการใส่หน้ากาก จากที่ก่อนหน้านี้บางรัฐส่งสัญญานว่าไม่ต้องใส่หน้ากาก เนื่องจากผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น 5 เท่า จากปลายเดือน มิ.ย. เฉลี่ย 12,000 ราย เฉลี่ยนเป็น 60,000 รายในปลายเดือน ก.ค. และ 50 รัฐ มีการกระจายเดลตากว่า 80%


การแพร่ระบาด อาจนำไปสู่การกลายพันธุ์

วานนี้ (10 ส.ค. 64) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงอัปเดตสถานการณ์การรับมือกับ สายพันธุ์ เดลตา จากทั่วโลก ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ Mahidol Channel โดยระบุว่า สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนที่มากพอ จะมีส่วนสำคัญในการลดการแพร่ระบาดและอัตราการเสียชีวิต แต่ไม่ควรเป็นข้อบ่งชี้ในการยกเลิกหรือผ่อนคลายการระวังตนเอง คือ ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หมั่นทำความสะอาดมือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีคนจำนวนมากในพื้นที่ ที่จำกัด


“การแพร่ระบาดในกลุ่มคนจำนวนมาก อาจนำสู่การเกิดการกลายพันธุ์ และสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเร็ว จะทดแทนสายพันธุ์เดิมหรือสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดช้ากว่า ขณะที่ ความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ขึ้นกับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของเชื้อในโลก”


ฉีดวัคซีน ลดเสียชีวิต ยังแพร่เชื้อได้
ขณะนี้ ประเทศไทยขณะนี้ (10 ส.ค. 64)  ฉีดวัคซีนไปแล้ว 21,171,110 โดส ใน 77 จังหวัด “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” ระบุว่า  วัคซีนยังครอบคลุมเดลตาได้ระดับหนึ่ง โดยยังคงเร่งฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คนอ้วน ซึ่งถ้าน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัมก็ฉีดได้เลยไม่จำกัดอายุ รวมไปถึงเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด เพราะตัวเลข 60-70% ของผู้เสียชีวิตเป็นคนอายุเกิน 60 ปี ขณะที่ CDC ระบุว่า การฉีดวัคซีนยังสามารถลดความรุนแรงกับการเสียชีวิตได้ แต่โอกาสการลดการแพร่กระจายลดลงไปเยอะ เพราะอย่างสหรัฐก็ออกมายอมรับเรื่องนี้เช่นกัน

ติดตามมาตรการหลัง สหรัฐ เริ่มกลับมาใส่หน้ากาก
ขณะเดียวกันมาตรการของไทยในขณะนี้ ต้องติดตาม และต้องมีการปรับเปลี่ยน เหมือน CDC สหรัฐ เมื่อฉีดได้ดีก็เริ่มจะให้ยกเลิกการใส่หน้ากากอนามัย แต่เมื่อระบาดขึ้นอีก 11 สัปดาห์ให้หลังก็ต้องกลับมาใส่หน้ากากใหม่อีกครั้ง ทุกประเทศเหมือนกัน ดังนั้น จึงต้องติดตามมาตรการ หากตัวเลขไม่ลงอย่างที่ควรจะเป็น ก็ต้องมาเข้มมาตรการ แต่หากตัวเลขเริ่มนิ่ง ป้องกันปัจจัยรอบข้างได้ เร่งฉีดวัคซีน ก็จะเกิดคุมไวรัสได้ ซึ่งอาจผ่อนมาตรการลงได้ในเวลาที่เหมาะสม


“ส่วนประชาชนให้ความร่วมมือก็ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีรายงานให้เห็นการทำกิจกรรมบางอย่าง  เช่น กิจกรรมทางศาสนา ทำให้มีการรวมกลุ่มจำนวนมาก จนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ ยังมีโรงงานที่อยากทำบับเบิ้ล แอนด์ ชิล แต่ระบบอาจยังทำไม่ได้มาก ทำให้ยังมีคลัสเตอร์ที่อาจควบคุมได้ไม่เต็มที่ แต่สังคมโดยรวมอย่าง กทม. เท่าที่เห็นการ์ดยังไม่ตก และเริ่มเห็นการติดเชื้อใหม่มีแนวโน้มลดลง หากรักษาระยะแบบนี้ได้ และเร่งฉีดวัคซีนจะช่วยได้"

"โดยปัจจุบันไทยฉีดได้ราว 22% ของทั้งประเทศ คาดว่าจะได้ 25% ภายใน ส.ค. และไต่ยอดไปเรื่อยๆ ช่วง ก.ย.-ต.ค. น่าจะเห็นจุดที่วัคซีนมากพอ คู่ขนานกับมาตรการต่างๆ คาดว่าจะเห็นตัวเลขลดลง แต่ต้องไม่มีสิ่งใดเข้ามาก่อให้เกิดการแพร่กระจายมากขึ้น”

ไทยยังไม่ถึงจุดพีค
ซึ่งขณะนี้ยังไม่ถึงจุดพีค เพราะตัวเลขของกราฟ ไม่ว่าในกทม. หรือต่างจังหวัด ยังขึ้นอยู่ เพียงแต่บางพื้นที่ขึ้นด้วยความชันน้อยลง ขณะเดียวกัน ช่วงเวลานี้ไปจนถึงปลายปียังมีการแย่งวัคซีนในแต่ละประเทศ การผลิตให้มากไม่สามารถทำได้ทัน ประกอบกับสายพันธุ์ที่กระจายเร็วซึ่งทำให้วัคซีนรุ่นแรกๆ ประสิทธิภาพลดลง ด้าน องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่แนะนำเข็ม 3 เพราะอยากให้ทั่วโลกได้รับวัคซีนให้เยอะพอ แต่ก็ขึ้นอยู่กับบริบท ความจำเป็นของของแต่ละประเทศ


สิ่งสำคัญต้องดูสถานการณ์โลกควบคู่กับประเทศไทย ตราบใดที่ทั่วโลกร้อน ไทยไม่มีทางเย็น เพราะวัคซีน ยา และสิ่งอื่นๆ ยังต้องแย่งกัน เป็นสิ่งที่หลุดจากสิ่งคาดการณ์เดิม เดลตาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้สิ่งที่จัดการได้ จัดการไม่ได้ เช่น สหรัฐ หรืออิสราเอล หากไม่ช่วยกัน หากมีการแพร่ระบาดมาก และโชคร้ายมีสายพันธุ์ใหม่อีก ตอนนั้นจะยิ่งเดือดร้อน ตอนนี้จึงต้องเร่งหยุดการแพร่กระจายให้เร็วที่สุด
เข้มมาตรการ เร่งฉีดวัคซีน สกัดโควิด 

“ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” กล่าวต่อไปว่า การลดความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตที่เกินศักยภาพของระบบการดูแลสุขภาพ โดยการเร่งลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อ ขึ้นอยู่กับ 3 มาตรการ สำคัญ คือ 1. มาตรการทางการปกครอง 2. มาตรการทางการสาธารณสุข คือ การบริหารจัดการควบคุมโรค การพัฒนา ศักยภาพการตรวจหาผู้ติดเชื้อ การบริหารจัดการเตียง สถานพยาบาล และ 3.มาตรการส่วนบุคคล และทางสังคม


รวมถึง การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ได้แก่ กลุ่มเสี่ยง สูงวัย 7 โรคเรื้อรัง และ ตั้งครรภ์ มากและเร็ว การเร่งค้นหาผู้เสี่ยงติดเชื้อและแพร่เชื้อ (ATK; RT-PCR) การได้รับยาที่เร็ว (แจ้งลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบ) พัฒนาศักยภาพการดูแลผู้ติดเชื้อ (Home Isolation, Community Isolation)

รวมถึงการเร่งฉีดวัควีน ป้องกันการติดเชื้อ ผู้เสี่ยง สูงวัย 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ ให้มากและเร็ว ขณะเดีวกัน การเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อและเสี่ยงแพร่เชื้อ ซึ่งขณนี้มี Antigen Test Kit (ATK) ในการตรวจได้เร็ว ยี่ห้อต่างๆ มีความแม่นยำดีระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะความไวและจำเพาะกว่า 90% การตรวจ ATK  จะสามารถค้นหาคน ควบคุม เข้ากระบวนการรักษา ให้เร็ว และให้ยาเร็ว ตอนนี้มีนโยนบายออกมาแล้ว ในกลุ่มที่เสี่ยงจะอาการรุนแรง มีการแจกยา แต่ต้องลงทะเบียนเข้าสู่ระบบเพื่อติดตาม รวมถึง การพัฒนาศักยภาพ การดูแลผู้ติดเชื้อ Home Isolation และ Community Isolation