EXIM BANK สนับสนุนเรือเล็กออกจากฝั่ง บุกตลาดส่งออก

PostDD

  • *****
  • 1298
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     



SMEs เป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศ แต่วันนี้บทบาทของ SMEs ต่อระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันยังมีไม่มากเท่าที่ควร และนี่คือปัญหา “ความย้อนแย้ง” ในเชิงโครงสร้างแบบ ‘มากแต่น้อย’ ข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า SMEs ไทย มีจำนวนมากถึง 3.1 ล้านราย หรือ 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งระบบ แต่มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจเพียง 35% ของ GDP รวม ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีจำนวนไม่ถึง 1.5 หมื่นราย กลับมีบทบาทต่อ GDP สูงเกือบ 60% ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อหันไปมองประเทศอื่นใน ASEAN จะเห็นว่า SMEs มีบทบาทค่อนข้างสูง เช่น เวียดนาม SMEs มีบทบาทสำคัญถึง 40% ของ GDP อินโดนีเซีย 58% รวมถึงกลุ่มประเทศ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ที่เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว SMEs มีบทบาทเฉลี่ยราว 50-60%

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเร่งพัฒนาและยกระดับ SMEs ไทยให้มีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น หนึ่งใน Pain Point ที่เห็นชัดเจน คือ SMEs ไทยส่วนใหญ่ยังค้าขายในประเทศเป็นหลัก สะท้อนจาก SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกมีเพียง 2.4 หมื่นราย หรือไม่ถึง 1% ของ SMEs ทั้งระบบ ทำให้เผชิญการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากคนขายมีมากขึ้นแต่คนซื้อเท่าเดิม เมื่อประกอบกับข้อจำกัดต่าง ๆ ภายในประเทศ ทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้การจับจ่ายใช้สอยไม่คึกคักเหมือนในอดีต ล้วนเป็นสาเหตุทำให้ SMEs ไทยมีทางเลือกไม่มากและเติบโตได้ยาก ดังนั้น ทางออกของปัญหานี้คือ SMEs ไทยต้องโกอินเตอร์ ขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ นอกจากการสนับสนุนให้ SMEs เริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกมากขึ้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้ทันที คือ การสนับสนุน SMEs ให้เป็นผู้ส่งออกทางอ้อม (Indirect Exporter) อยู่ใน Supply Chain ของผู้ส่งออก เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อได้โดยไม่สะดุด เป็นการสร้าง Inclusive Growth ระหว่างคนตัวใหญ่กับคนตัวเล็กให้เติบโตไปพร้อมกัน


ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในโอกาสเปิด EX1M Solution Forum Ep.1 ว่า EXIM BANK ทำงานร่วมกันกับภาครัฐและภาคธุรกิจเพื่อเสริมสร้างให้เกิด Supply Chain ที่แข็งแรง ที่ผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำสามารถเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งยังเป็นการนำร่องและกระตุ้นให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือ ซึ่งจะทำให้เกิด Supply Chain ที่แข็งแรงในภาคธุรกิจอื่น ๆ ต่อไป

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า  “สิ่งที่เราต้องทำต่อไปคือ เราต้องออกไปข้างนอก เพื่อหาตลาดที่ใหญ่ขึ้น “เรือเล็กต้องออกจากฝั่ง” สร้างตลาดที่แข็งแรงที่จะตอบโจทย์การผลิตหรือการให้บริการธุรกิจของเรา ซึ่งจะเป็นการเชื่อมทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง Margin ไปจนถึง Logistics รวมถึง Stock Management ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เราต้องการให้คนตัวใหญ่เป็นที่พึ่งพา คนตัวเล็กสามารถพึ่งพิง และในอนาคตเราจะสร้างการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย”

ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ (Sponsor) อย่าง คุณวิทูร สุริยวนากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามโกล.เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจส่งออก-นำเข้าและศูนย์รวมวัสดุก่อสร้างและสินค้าไลฟ์สไตล์ครบวงจรของไทยกล่าวถึงการพัฒนา Supply Chain ร่วมกันว่า “ผมเชื่อว่าเมื่อเรามารวมกันเป็นทีมประเทศไทย เราจะโตไปด้วยกัน ไม่เฉพาะในประเทศแต่มีโอกาสเติบโตในต่างประเทศด้วย วันนี้ EXIM BANK เข้ามาเป็นโซ่กลางเชื่อมโยงและสนับสนุน Supply Chain ของเรา ให้เงินทุนจัดหาวัตถุดิบและเครื่องจักรที่ทันสมัย ช่วยให้เราสามารถพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้า”


EXIM BANK จึงได้เสริมความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทยทั้ง Supply Chain โดยออกบริการ “สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร (EXIM Supply Chain Financing Solution)” เสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ SMEs ที่เป็น Suppliers ของผู้ประกอบการรายใหญ่ (Sponsor) โดยไม่ต้องใช้หลักประกันเพิ่ม เบิกกู้สูงสุด 90% ของมูลค่า Invoice สามารถนำ Invoice มาใช้ ยื่นขอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษผ่าน Digital Platform ได้ วงเงินกู้สูงสุด 25% ของยอดขายรวมปีล่าสุด โดยอ้างอิงบนเครดิตที่แข็งแรงของ Sponsor บริการดังกล่าวช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกขึ้นและมีต้นทุนต่ำลง มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกรรมทางออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ธนาคาร ขณะที่ Sponsor ซึ่งเป็นลูกค้า EXIM BANK จะได้รับเครดิตเทอมเพิ่มจากคู่ค้าที่เป็น SMEs และมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน เป็นประโยชน์ในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคตข้างหน้า นับเป็นการสร้าง Supply Chain ที่แข็งแรง ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถสนับสนุนและเสริมความแข็งแรงให้กับผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างเกื้อกูลและยั่งยืน โดยมีเครื่องมือทางการเงินและการบริหารความเสี่ยงของ EXIM BANK เป็นกลไกช่วยให้ทุกภาคส่วนดำเนินธุรกิจไปได้อย่างไม่ติดขัด แม้จะได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นระลอกทั่วโลก

ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กให้ความเห็นตรงกันว่าการส่งเสริมความแข็งแกร่งทั้ง Supply Chain ด้วยมาตรการ “สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร” ของ EXIM BANK ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กเกิดความคล่องตัวในการบริหารธุรกิจ ทั้งการควบคุมต้นทุน การจัดการสต๊อกวัตถุดิบ และทำให้บริหารธุรกิจได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กกล้าที่จะเติบโต

คุณกิตติศาสตร์ พลตื้อ ประธานกรรมการ บริษัท วิชั่น กลาส แอนด์ ดอร์ อินดัสเทรียล จำกัด “เงินทุนหมุนเวียนจาก EXIM BANK ไม่ต้องใช้เอกสารมากมาย ไม่ต้องมีหลักประกัน ประกอบกับการได้อยู่ในเครือข่าย Supply Chain ทำให้ได้รู้จักทั้งรายใหญ่และรายย่อย ได้แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างมาก”

คุณเศรษฐชัย สุริยะเลิศกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุดรเก้าเจริญทรัพย์ จำกัด “Supply Chain จะมีความเกี่ยวข้องกันตั้งแต่การผลิต การจัดหาวัตถุดิบ การบริหาร จนกระทั่งการจัดส่งไปถึงมือลูกค้า ทำให้ระบบทั้งหมดเติบโตไปด้วยกัน การสนับสนุนของ EXIM BANK ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ในระบบ Supply Chain ซึ่งมีความแตกต่างกัน สามารถควบคุมต้นทุนให้สอดคล้องกันได้”                             


คุณเฉลิม เศารยางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม.เจ.พาราวู๊ด จำกัด “การที่บริษัทได้รับการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ทำให้สามารถสต็อกวัตถุดิบได้ในช่วงเวลาและราคาที่เหมาะสม ทำให้สามารถลดต้นทุน บริหารจัดการสต็อกวัตถุดิบและวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

คุณกรองพร สิริประสิทธิ์พงศ์ ผู้จัดการการเงินและการตลาด บริษัท ว.พลาสติก (2002) จำกัด “โอกาสของธุรกิจภายใต้ Supply Chain ที่แข็งแรง ทำให้เรากล้าที่จะเติบโต ขอบคุณ EXIM BANK และ สยามโกล.เฮ้าส์ที่ทำให้ Supply Chain แข็งแรง ทำให้เรากล้าที่จะลงทุนในผลิตภัณฑ์ โดยมีบริการทางการเงินช่วยให้ธุรกิจเราคล่องตัวมากขึ้น”

วันนี้ EXIM BANK ทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการพัฒนาภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ไทยให้มีแรงขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านเงินทุนและอำนาจต่อรอง โดยอาศัยพันธมิตรทางธุรกิจเป็นสะพานเชื่อมไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ที่นำไปสู่การเติบโตร่วมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและการขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย กระตุ้นให้เกิดการค้าและธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลเพื่อความสะดวกรวดเร็วแก่ภาคธุรกิจและผู้บริโภค ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยตลอดทั้ง Supply Chain เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความแข็งแกร่งและพร้อมเริ่มต้นกับโอกาสครั้งใหม่หลังวิกฤตโควิด-19