ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (29 ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีกำหนดการปฏิบัติงานที่ทำเนียบรัฐบาลโดยในเวลา 11.00 น. เวลา 11.00 น.มีกำหนดการพบกับนายอะห์หมัด อับดุลเลาะฮ์ อัลฮาญะรี (Ahmed Adbulla Al-Hajeri) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรบาห์เรนประจำประเทศไทย ที่เข้าอำลานายกรัฐมนตรี ในโอกาสพ้นหน้าที่ ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
โดยก่อนกำหนดการดังกล่าวได้เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้คาดว่าจะมีการหารือถึงสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่มีดีขึ้น รวมทั้งมีการติดเชื้อในภาคการผลิตโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งมีการหารือถึง
มาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมที่อาจจะออกมาในช่วงที่ยังต้องมีการควบคุมการระบาดของโรคต่อเนื่องไปอีกระยะเวลาหนึ่งหลังจากที่การระบาดยังไม่ลดลง
ทั้งนี้ที่ประชุม ครม.ที่ผ่านมาได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบจากโควิด-19 ได้แก่ มาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชน ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา ภาครัฐและเอกชน กรอบวงเงินรวม 3.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น มาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรอบวงเงิน 23,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียนในระบบการศึกษาไทย ภาคเรียนที่ 1 ปี การศึกษา 2564 โดยสนับสนุนค่าใช้สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง 2,000 บาท/นักเรียน 1 คน รวมทั้งจัดสรรค่าใช้จ่ายให้แก่สถานศึกษาเพื่อช่วยจัดการเรียนรู้ รวมทั้งลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายในโรงเรียนเอกชนให้เท่ากับปีการศึกษา 2563
มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม (อว.) กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ นิสิต/นักศึกษาชาวไทย ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564
มีแนวทางการดำเนินการ ได้แก่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จะได้รับส่วนลดเป็นลักษณะร่วมจ่ายระหว่างรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในอัตรา 6:4 โดยค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษาส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลด 50% 50,001 - 100,000 บาท ลด 30 % และเกิน 100,000 บาท ลด 10% โดยส่วนลดสูงสุดรวมกันไม่เกิน 50% ส่วนสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษา รัฐสนับสนุนในอัตรา 5,000 บาท/คน
ครม.ยังได้อนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 13 จังหวัด วงเงินรวม 15,027.686 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,522.99 ล้านบาท จากเดิม 13,504.696 ล้านบาท โดยเพิ่มจากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด ซึ่งพื้นที่ 3 จังหวัดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา พร้อมมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเร่งประมาณการจำนวนนายจ้างและผู้ประกันนมาตรา 33 กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะขี้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ด้วย
ทั้งนี้กรอบวงเงินดังกล่าวเป็นเงินช่วยเหลือให้แก่นายจ้างในระบบประกันสังคมใน 9 ประเภทกิจการ ใน 13 จังหวัดกลุ่มเป้าหมาย 7,238.631 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 สัญชาติไทยที่เป็นลูกจ้างในกิจการของนายจ้างตามคุณสมบัติ จำนวน 7,789.055 ล้านบาท ซึ่งทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา ยังจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้