กรมทรัพย์สินทางปัญญาปฏิรูปจดทะเบียนจาก 60 วัน เหลือ 15 วัน 

Thetaiso

  • *****
  • 2132
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
กรมทรัพย์สินทางปัญญาขานรับนโยบาย "สินิตย์ เลิศไกร" รมช.พาณิชย์ เดินหน้าปฏิรูปการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา นำเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับรูปแบบหนังสือสำคัญการจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตรจากกระดาษเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate) ทำให้ออกหนังสือสำคัญฯเร็วกว่าเดิม 3 เท่า จากเดิม 60 วันหลังจากรับจดทะเบียนเหลือ 15 วัน พลิกโฉมการออกหนังสือสำคัญฯจากเอกสารนับร้อยหน้าเหลือเพียงหน้าเดียว พร้อมการันตีความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบรายละเอียดจากฐานข้อมูลกรมฯผ่าน QR Code และเลขอ้างอิงได้ทันที อนาคตขยายให้บริการหนังสือสำคัญการรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นๆ ต่อไป

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้ายกระดับงานบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยอีกหนึ่งบริการที่กรมฯได้นำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการให้บริการประชาชนคือ การออกหนังสือสำคัญการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตรในรูปแบบ “e-Certificate” ซึ่งพบว่า ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ โดยนับตั้งแต่เปิดให้บริการดังกล่าว กรมฯสามารถออกหนังสือสำคัญฯไปแล้วกว่า 1,600 คำขอ สะท้อนภาพการบริการที่สะดวกรวดเร็ว น่าเชื่อถือ และตอบสนองการใช้งานของภาคธุรกิจ โดยใช้เวลาเหลือเพียง 15 วันหลังจากรับจดทะเบียนจากเดิม 60 วัน



โดยกรมฯ ได้ปรับลดกระบวนการออกหนังสือสำคัญฯและปรับโฉมเอกสารให้อยู่ในรูปแบบกระดาษเพียงแผ่นเดียว พร้อมมีข้อมูลสำคัญครบถ้วน สามารถสแกน QR Code เพื่อดูรายละเอียดจากฐานข้อมูลกรมฯได้ทันที ทำให้เจ้าของสิทธิสามารถนำหนังสือสำคัญดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้เร็วขึ้น และนำไปใช้ทำธุรกรรมได้สะดวกขึ้นอาทิ การอนุญาตใช้สิทธิ การเจรจาธุรกิจ เป็นต้น อีกทั้งยังเพิ่มมิติความน่าเชื่อถือด้วยการใช้หมายเลขอ้างอิง ลายน้ำ และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถตรวจสอบผ่านระบบออนไลน์ได้ทันที ยากต่อการปลอมแปลง และที่สำคัญยังใช้เป็นหลักฐานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ ศาล อัยการ ตำรวจได้อีกด้วย

“กรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่ “Smart DIP” อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อยกระดับการให้บริการภาคธุรกิจและประชาชนในทุกมิติ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร 1368”