อั้นไม่อยู่! ขึ้น “ค่าไฟ” รับปีใหม่ ราคาน้ำมันเพิ่มดันต้นทุนก๊าซพุ่ง

Hanako5

  • *****
  • 1878
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
ราคาก๊าซ LNG เชื้อเพลิงหลักของโรงไฟฟ้าพุ่งพรวด 4 เท่า ตามราคาน้ำมันดิบ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เตรียมปรับขึ้น “ค่าไฟฟ้า” ม.ค. ปี 65 ชี้สารพัดปัจจัยลบเข้าหน้าหนาว-วิกฤตพลังงานในจีน ส่งผลผู้นำเข้า LNG เอกชนโยนภาระให้ กฟผ.-ปตท.นำเข้า 300,000 ตัน ย้ำก๊าซไม่ขาด แต่ราคานำเข้าแพงแน่ “แหล่งก๊าซเอราวัณ” ในอ่าวไทยป่วนซ้ำผลิตได้ไม่เต็มกำลังผลิต จ่อขึ้นค่า Ft เร่งหาวิธีลดภาระประชาชน

ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ราคาพลังงานโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง แต่ปีนี้ดูเหมือนจะมาเร็วกว่าปกติ ล่าสุดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสได้ปรับตัวสูงขึ้นที่ 78.30 เหรียญ/บาร์เรล, เบรนต์ 81.95 เหรียญ/บาร์เรล และดูไบ 77.59 เหรียญ/บาร์เรล ควบคู่ไปกับราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ได้ขยับราคาขึ้นมาถึง 18 เหรียญ/ล้าน BTU นับเป็นราคาที่สูงที่สุดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พร้อมกันนี้ยังมีการคาดการณ์กันว่า ความต้องการใช้น้ำมันดิบอาจจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติเปลี่ยนมาใช้น้ำมันดิบแทน จากราคาก๊าซที่สูงขึ้นมาก

กกพ.แง้มขึ้นค่าไฟแน่
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวถึงการเตรียมแผนสำหรับรองรับต้นทุนพลังงานที่ปรับสูงขึ้นในปี 2565 ว่า ต้นทุนพลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะ “ก๊าซ LNG” ตอนนี้มีการปรับราคาขึ้นไปสูงสุดในรอบหลายปี ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุน “ค่าไฟฟ้า” เนื่องจากสัดส่วนเชื้อเพลิงก๊าซ LNG คิดเป็น 80% ของเจเนอเรชั่นทั้งหมด รองลงมาจะเป็นต้นทุน transmision ประมาณ 20 สตางค์/หน่วย และต้นทุนการกระจายและค้าปลีก (distribution และ detail) รวม 50 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมทั้ง 2 ต้นทุนเข้าด้วยกันก็จะคิดเป็นประมาณ 70 สตางค์/หน่วยทีเดียว

“ราคา LNG ที่พุ่งขึ้นมากระทบค่าไฟแน่นอน แต่ไม่ได้ขึ้นเป็น 2-3 เท่า ค่าไฟคงต้องปรับขึ้น แต่ไม่ได้ขึ้นเยอะในสเกลที่น่าตกใจ อาจจะขึ้นประมาณ 5-10 สตางค์/หน่วย ไม่ได้ขึ้นไปถึงขนาด 2-3 บาท/หน่วย เพราะพอร์ชั่นบางส่วนใน LNG spot ไม่ได้เยอะ แต่ยังมี LNG เทอมอย่างอื่นบวกเข้าไปอีก ถามว่า เราต้องเตรียมเงินสำรองไปชดเชยหรือไม่ คือโดยหลักการแล้ว ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงมันต้องพาสไปที่ค่าไฟฟ้าอยู่แล้ว ดังนั้นในรอบหน้า(ม.ค.-เม.ย. 2565)ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) อาจเป็นบวกจากเดิมที่เป็น -15 สตางค์ มาโดยตลอด แต่ถ้าเราบาลานซ์หรือหาเงินส่วนอื่นมาช่วยชดเชย ค่า Ft ก็อาจขึ้นไม่มากนัก” นายคมกฤชกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการลดหรือชะลอการขึ้นค่า Ft ที่จะบวกเข้าไปในราคาค่าไฟฟ้านั้น อาจใช้วิธีให้การไฟฟ้าช่วยรับภาระไปก่อนบางส่วน หรือทั้งหมดก็ได้

ปั่นราคา LNG ในตลาดโลก
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาก๊าซ LNG ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก เป็นผลมาจากไตรมาส 4 ของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติปริมาณสูงสุดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฤดูหนาว ซึ่งผู้ใช้ก๊าซก็จะทำการซื้อเก็บสต๊อก แต่ว่าในปีนี้เกิดภาวะวิกฤตพลังงานในจีน ทั้งยังอาจเกิดการ “ปั่นราคา” LNG ในตลาดโลก ส่งผลทำให้ราคา LNG สูงขึ้นไปเป็นประวัติการณ์ 3-4 เท่าจากราคาตามปกติ

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับภาวะเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับการนำเข้าสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า LNG หรือ LNG shipper “ชะลอ” การนำเข้าก๊าซ LNG ในช่วงที่มีราคาสูงขึ้น ประกอบกับมีการแจ้งเรียกปริมาณก๊าซ “take or pay” ช้าไป ประมาณเดือนมิถุนายน 2565 ทำให้ชิปเปอร์นำเข้าเตรียมตัวไม่ทัน


“ค่า Ft โดยหลักการต้องปรับขึ้นแน่ แต่ไม่ใช่ขึ้นรวดเดียวทั้งหมด ไทยไม่ได้มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงเพียงประเภทเดียว เรายังมีเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ อีก เช่น น้ำ ซึ่งต้องเอามาเฉลี่ยบาลานซ์กัน และอีกอย่างไทยยังมีก๊าซธรรมชาติในอ่าวก็จะมาช่วยอีกส่วน ถามว่าราคาทั่วโลกขึ้น ก๊าซในอ่าวมันก็ลิงก์กับน้ำมันก็ต้องตอบว่า ขึ้น แต่มันเป็น longterm contract จึงไม่ได้ปรับขึ้นเท่ากับราคา spot ที่ต้องซื้อเป็นช่วง ๆ

ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมาช่วยบาลานซ์กันได้ และถ้าหากเทียบสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซ LNG คิดเป็นประมาณ 20% ในจำนวนนี้ก็จะมีส่วนที่เป็น LNG spot ไม่เกี่ยว LNG term อยู่ส่วนหนึ่ง เมื่อเทียบกันแล้ว ราคา LNG spot ขึ้นไป 2-3 เท่า แต่ราคา LNG Term อาจขึ้นแค่ 1.3-1.4 เท่าก็จะมาเฉลี่ยกันได้บ้าง” นายคมกฤชกล่าว



กางแผนนำเข้า กฟผ.
ส่วนแผนการนำเข้าก๊าซ LNG ที่วางเอาไว้กำหนด 9-10 ลำเรือ หรือประมาณ 540,000-600,000 ตัน ซึ่งช่วงหลังนี้ shipper ชะลอการนำเข้า จึงต้องแบ่งก๊าซ LNG ให้ กฟผ.นำเข้าเอง ประมาณร้อยละ 50 หรือ 4-5 ลำเรือ 240,000-300,000 ตัน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของเชฟร่อน ในแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างการเข้าแหล่งผลิตของ ปตท.สผ. ซึ่งตามตัวเลขปริมาณการนำเข้าที่ไม่เกินสัญญา take or pay ปริมาณ 480,000 ตันนั้น จะต้องมีปริมาณก๊าซบางส่วนที่แหล่งเชฟรอนผลิตไม่ได้ตามที่คอมมิตเอาไว้ ดังนั้นจึงต้องนำเข้า LNG เพิ่มอีกนิดหน่อย

ส่วน LNG shipper ทั้ง 7 ราย ได้แก่ กฟผ.-กัลฟ์-หินกองพาวเวอร์-บี.กริม-เอ็กโก้-PTTGL และ SCG นั้น ในขณะนี้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้นำเข้าก๊าซ LNG เอกชนจะขอนำเข้าก๊าซเข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของตนเอง ซึ่ง “ตอนนี้ไม่มีใครนำเข้าเลย” กับผู้นำเข้าที่เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลที่จะต้องนำเข้ามาอยู่แล้ว









“ในระยะสั้น ผมไม่ได้ห่วงเรื่องก๊าซขาดแคลน แต่ผมห่วงว่า ราคา LNG จะถูกปั่นขึ้นสูงไปจนโอเวอร์ และค่าบาทเราอ่อนค่าด้วย ดังนั้นจึงต้องเตรียมแผนเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันเตาแทนในบางช่วง เพราะถ้าราคา LNG ถูกปั่นขึ้นไปเยอะ เราก็ไม่ซื้อ ยกตัวอย่าง การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าราชบุรีด้วยน้ำมันเตามาช่วยชดเชยบ้าง แต่ถ้ามันจำเป็น หากเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าแทน LNG คัฟเวอร์ได้ไม่หมด เราก็ต้องซื้อ LNG เข้ามา เพื่อความมั่นคงของพลังงาน” นายคมกฤชกล่าว

มีรายงานข่าวเข้ามาว่า ค่า Ft ที่จะต้องปรับเพิ่มเข้าไปในค่าไฟฟ้า (งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564) ยังมีปัจจัยสำคัญมาจากการเข้าไป “operate” ช่วงรอยต่อของผู้ประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ในอ่าวไทยที่หมดอายุสัมปทานลง ระหว่างบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ผู้รับสัมปทานรายเดิม กับบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ดีเวลลอปเมนท์ ผู้ชนะการประมูลรายใหม่ ปรากฏมีช่วงส่งมอบแหล่งล่าช้ากว่าที่ได้ตกลงกันไว้ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติ “ต่ำกว่า” ทั้งนี้ สัดส่วนก๊าซจากอ่าวไทยคิดเป็น 75% และก๊าซจากเมียนมาคิดเป็นสัดส่วน 25%

หากไม่พอก็จะนำ LNG เข้ามาใช้ โดยราคาที่ซื้อขายก๊าซอ่าวไทยอยู่ที่ประมาณ 150 บาท/ล้าน BTU ส่วนก๊าซจากแหล่งผลิตในเมียนมาประมาณ 200-300 บาท/ล้าน BTU ราคาก๊าซ LNG นำเข้าตามปกติเฉลี่ยอยู่ประมาณ 6 เหรียญ หรือ 180 บาท/ล้าน BTU แต่ตอนนี้ราคา LNG ในตลาดโลกขยับขึ้นไป 18 เหรียญ/ล้าน BTU หรือประมาณ 550-600 บาท

18 เหรียญก็ต้องนำเข้า
ด้านนายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT ด้านการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 4/2564 กฟผ.มีแผนจะนำเข้า LNG ประมาณ 3 ลำเรือ จากทั้งหมด 5 ลำแน่นอน เนื่องจาก EGAT เป็น LNG shipper รายใหญ่ถูกขอให้ดึง LNG ในราคา spot เข้ามาช่วย โดยขณะนี้ราคา LNG ได้ขยับขึ้นไป 14 เหรียญสหรัฐ สูงสุด 18 เหรียญสหรัฐ/ล้าน BTU แล้ว

“การแก้ปัญหาหลักสำคัญตอนนี้ก็คือเรื่องของ security of supply ต้องมาก่อน ส่วนความปลอดภัยถือเป็น practisce หรือเป็นมาตรฐานอยู่ในโรงงานอยู่แล้ว เนื่องจาก “ต้นทุน” ที่ทำให้เกิดไฟดับเท่าที่มีการศึกษาโดยทางจุฬาลงกรณ์ จะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 80 บาท/หน่วย ดังนั้น ถ้าให้ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าตอนต้นทุน LNG ที่ 12 เหรียญ หรือ 14 เหรียญ ผมก็ต้องทำ” นายประเสริฐศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ราคาค่าไฟฟ้า “อาจจะสูงขึ้นตามต้นทุน” แต่ค่าไฟจะขึ้นมากหรือขึ้นน้อยอยู่ที่การพิจารณาของ กกพ. และขึ้นอยู่กับปัจจัยปริมาณการนำเข้า LNG ด้วย เช่น นำเข้ามา 2% แม้ว่าราคาแพงขึ้นกว่าเดิม 3-4 เท่า ก็จะอยู่ในสัดส่วน 2% ไม่ได้มาก แต่การนำเข้า LNG ตอนนี้ต้องเร่งดำเนินการ เพราะ “ในเดือนนี้ก๊าซขาดแล้ว” แต่จะเกิดภาวะน่ากลัวเหมือนจีน เช่น ไฟดับหรือไม่นั้น ตอบได้ว่าไม่น่าจะมีปัญหาเพราะประเทศไทยเองหากไม่นำเข้า LNG ก็มีโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาอยู่ที่ราชบุรี 2 โรง เป็นโรงไฟฟ้าเทอร์มอลขนาด 2,800 MW ถ้าก๊าซขาดก็จะไปผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงสำรองและยังมีโรงไฟฟ้าที่เป็นพลังงานความร้อนร่วม

ปตท.ช่วยดึงค่า Ft ลงได้
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า หน้าที่หลักของ ปตท.ในด้านความมั่นคงทางด้านพลังงานก็คือ การดูแลไม่ให้ขาด เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าไปเสริมหรืออะไร ปตท.ต้องทำอยู่แล้ว โดย ปตท.มี PTT Global LNG Company Limited (PTTGL) ซึ่งเป็นหนึ่งใน LNG shipper ที่เป็นผู้นำเข้า LNG หลัก จากสถานการณ์ตอนนี้ที่ LNG shipper เอกชนรายอื่น ๆ ไม่นำเข้า LNG เพราะ “ในช่วงนี้ราคา LNG ขยับขึ้นมามันแพงมาก”

“ต้นทุนราคา LNG ในมือ ปตท.ถูกกว่าตลาดโลกมาก ส่งผลทำให้ค่าไฟปรับขึ้นไม่สูงมาก ส่วนปริมาณ LNG ที่เกินสัญญาก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ LNG ส่วนใหญ่มาจากสัญญาที่ ปตท.ไปทำไว้ในระยะยาวเพื่อความมั่นคงซึ่งด้วยสูตรราคาที่ ปตท.ไปดีลไว้ ตอนนี้เทียบกับราคา spot ในตลาดโลกแล้วมันถูกกว่ากันเยอะ แต่ต้องเข้าใจว่า ราคา LNG มันก็เป็นช่วง ๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ โดยช่วงนี้เป็นช่วงที่ใกล้เข้าหน้าหนาว ผู้ใช้ก็ต้องสต๊อกไว้ ราคามันก็ต้องปรับขึ้นไป

ราคา LNG ก็เหมือนราคาน้ำมันดิบนั่นแหละ ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามดีมานด์ ซัพพลายก็เป็นเรื่องปกติ แต่ว่า ปตท.มีวอลุ่มที่เป็นสัญญาแน่นอนถึงอย่างไร LNG ก็ไม่ขาด และยิ่งช่วงนี้ยิ่งกลายเป็น LNG ที่ ปตท.ดีลไว้ไม่ขาด และถูกกว่าราคาตลาดด้วย” นายอรรถพลกล่าว