“เน็กซ์” ปักธงฉะเชิงเทรา ลุยธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า

Prichas

  • *****
  • 2725
    • ดูรายละเอียด
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
“เน็กซ์” ติดเครื่องยานยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ หลังโรงงานผลิตในไทยจ่อเปิด พ.ย.นี้ เร่งออเดอร์แรก 500 คัน หนุนรถร่วมขนส่ง และภาคเอกชน พร้อมปูพรมขยายตลาด ดันปีหน้า 6 พันคัน ลั่น 5 ปีไทยเปลี่ยนผ่านขับเคลื่อนด้วยอีวี
แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทยจะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ รวมถึงบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ที่เตรียมจะเปิดสายการผลิตโรงงานประกอบยานยนต์ไฟฟ้าที่ จ.ฉะเชิงเทรา  ซึ่งจะทำให้ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะกลายเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ทำคัญของประเทศไทย

บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ได้เร่งทำการตลาดและตั้งเป้าหมายทำการผลิตในปี 2565 ให้ได้ถึง 6,000 คัน ซึ่งการผลักดันดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่อีวีภายใน 5 ปี

อ่านข่าว : ไทยเบฟ ปลดล็อก อาณาจักรอาหารเครื่องดื่ม ลุยซัพพลายเชน รถอีวี

คณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และการดำเนินธุรกิจ โดยระบุว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยตื่นตัวกับการปรับเปลี่ยนมาใช้รถอีวีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเน็กซ์ประเมินว่าอาจจะมาจากการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของรถอีวี ที่ช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้ถึง 50% หากเทียบกับน้ำมัน

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเน็กซ์อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมเปิดโรงงานผลิตและประกอบรถอีวีในไทยแบบ 100% เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดโรงงานดังกล่าวภายในเดือน พ.ย.2564 พร้อมเริ่มกำลังการผลิตรถอีวีตามคำสั่งจองของลูกค้าที่ขณะนี้มีเข้ามาราว 500 คัน โดยส่วนใหญ่เป็นรถอีวีประเภทรถขนส่งสาธารณะ และรถขนส่งสินค้า ซึ่งคาดว่าจะเร่งการผลิตเพื่อทยอยส่งมอบให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้

“ปีนี้จะเป็นปีแรกที่เราเริ่มเปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วน และประกอบรถอีวีในไทย จากที่ก่อนหน้านี้เรารับออเดอร์และนำเข้ารถมาจากต่างประเทศ ซึ่งหลังจากนี้รถอีวีของเน็กซ์ เรียกได้ว่าทำที่ไทย 100% ทั้งตัวรถ แบตเตอร์รี่ และชิ้นส่วนอื่นๆ มีเพียงบางชิ้นเท่านั้นที่ต้องนำเข้า”

“เน็กซ์” ปักธงฉะเชิงเทรา ลุยธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า

สำหรับโรงงานผลิตยานยนต์ในไทยนี้ มีกำลังการผลิตได้เฉลี่ยเดือนละ 250 คัน และสูงสุดถึง 500 คัน ซึ่งในปี 2565 เน็กซ์ตั้งเป้าว่าจะมียอดสั่งซื้อรถอีวีเข้ามาเต็มกำลังการผลิต หรือสูงสุด 6,000 คัน และจะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 24,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการคำนวณจากราคายานยนต์เฉลี่ยราว 4 ล้านบาทต่อคัน โดยลูกค้ากลุ่มหลักยังประเมินเป็นรถสาธารณะ และขนส่งสินค้า

คณิสสร์ ยังเผยด้วยว่า เน็กซ์ถือเป็นบริษัทที่ริเริ่มเข้ามาทำธุรกิจรถอีวีในไทย และเป็นรายแรกที่ตั้งโรงงานการผลิต นอกจากนี้เรายังมีศูนย์ซ่อมบำรุง ศูนย์บริการ ช่องทางจัดจำหน่าย จึงเรียกได้ว่าเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถอีวีอย่างครบวงจรรายแรก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า อีกทั้งจากผลิตรถอีวีในไทยนั้นยังช่วยลดต้นทุนการนำเข้า ทำให้เน็กซ์สามารถขายยานยนต์ในราคาจับต้องได้

ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจนี้ในไทย จากความตื่นตัวของตลาด ประกอบกับราคารถอีวีที่ไม่สูงมาก และเน็กซ์เลือกเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มรถกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปริมาณมาก และมีการใช้งานสูง อาทิ รถบัสโดยสาร รถร่วมในระบบขนส่งสาธารณะ รถขยะ รถน้ำ และรถ 6 ข้อขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีคู่แข่งในตลาดนี้ที่เป็นรถอีวี ดังนั้นเมื่อรถอีวีของเน็กซ์เป็นราคาที่จับต้องได้ และสามารถลดต้นทุนเชื้อเพลิงให้กับผู้ประกอบการ จึงทำให้เกิดจุดคุ้มทุนได้เร็ว เป็นอีกทางเลือกที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้กำลังให้ความสนใจ

“อยากให้เห็นภาพว่าปีแรกของการเปิดโรงงาน วันนี้เรามีออเดอร์อยู่ในมือแล้ว 500 คัน และเทรนด์รถอีวีในภาคอุตสาหกรรมกำลังได้รับการตอบรับดี ปีหน้าก็เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มออเดอร์ได้เต็มกำลังการผลิตของโรงงาน”

นอกจากนี้ เน็กซ์ยังประเมินว่าแนวโน้มการเติบโตของรถอีวีในประเทศไทย อีก 5 ปีข้างหน้า จะเห็นการเปลี่ยนผ่านของอีวี ผู้บริโภคจะหันมาเลือกใช้รถอีวีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งเชื่อว่าในช่วงดังกล่าวยอดการจดทะเบียนรถใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นรถอีวี ทำให้สัดส่วนรถอีวีจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของรถยนต์ในประเทศ และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันอีก 50% ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปีที่ 10 ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยอีวี

ทั้งนี้ ในฐานะภาคเอกชนมองว่าหากประเทศไทยจะก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวอย่างสมบูรณ์นั้น ต้องเริ่มการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ขณะนี้ และภาครัฐเป็นส่วนสำคัญของการกระตุ้นอุตสาหกรรมได้ โดยเริ่มจากการสนับสนุนเงินทุนแก่ภาคเอกชนที่นำมาจากกองทุนเกี่ยวกับน้ำมัน เพราะหากต้องการกระตุ้นให้ใช้น้ำมันลดลง การนำเข้าก็จะลดลง และทำให้เหลือเงินส่วนดังกล่าวที่สามารถนำมาสนับสนุนธุรกิจอีวีได้

อีกทั้งภาครัฐยังมีขีดความสามารถในการออกนโยบายเปลี่ยนรถขนส่งสาธารณะจากการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันให้มาใช้พลังงานไฟฟ้า โดยหากรัฐมีนโยบายดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมอีวีได้เป็นอย่างดี อีกทั้งจะช่วยลดต้นทุนให้กับรถโดยสารสาธารณะด้วย เนื่องจากรถประเภทนี้จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ที่มีความจุสูง ทำให้ไม่ต้องสร้างจุดชาร์จไฟฟ้าหลายแห่ง ดังนั้นนอกจากลดต้นทุนเชื้อเพลิงแล้ว ยังลดต้นทุนการสร้างสถานีชาร์จ

สำหรับปัจจุบันเน็กซ์มีลูกค้ารถอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชน อาทิ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด รถร่วมบริการ ขสมก. ล่าสุดได้รับมอบรถบัสอีวีเพื่อทดแทนรถโดยสารคันเก่า ให้บริการ 10 เส้นทาง รวมไปถึงบริษัท ล็อตเต้ เรนท์-อะ-คาร์ (ไทยแลนด์) จำกัด จัดซื้อบัสอีวี 87 คัน เพื่อให้บริการเส้นทางระหว่างจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

“ธุรกิจรถอีวีในกลุ่มรถอุตสาหกรรมยังเรียกว่าเป็น Blue Ocean ลูกค้าในตลาดนี้ถือเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ อีกทั้งในพื้นที่อีอีซีซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิต ยังมีนโยบายในการส่งเสริมให้รถที่ใช้ในอีอีซี ต้องเป็นรถอีวี นับเป็นอีกโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้น”