กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย 8 เดือน
จดทะเบียนธุรกิจยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ พุ่ง 43.95% อานิสงค์จากโควิด คาดยังโตต่อเนื่องจากเปิดเมือง การฉีดวัคซีน ขณะที่เดือนส.ค.ทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 214 ราย เพิ่มขึ้น 94 ราย คิดเป็น 78.33%
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เดือนส.ค. 2564 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 214 ราย เพิ่มขึ้น 94 ราย คิดเป็น 78.33% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ธุรกิจยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เดือนส.ค. 2564 มีมูลค่าทั้งสิ้น 336.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.68 ล้านบาท คิดเป็น 2.65% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการจดทะเบียนเลิกธุรกิจยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เดือนส.ค. 2564 มีจำนวน 19 ราย เพิ่มขึ้น 2 ราย คิดเป็น 11.76%
ขณะที่การจัดตั้งธุรกิจใหม่ 8 เดือนแรกปี 64 หรือตั้งแต่เดือนม.ค. – ส.ค. 2564 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสมจำนวน 1,333 ราย เพิ่มขึ้น 407 ราย คิดเป็น 43.95% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 926 ราย ในขณะที่จำนวนการจดทะเบียนเลิก 8 เดือนแรกปี 64 มีการจดทะเบียนเลิกสะสม 122 ราย ลดลง 9 ราย คิดเป็น 6.87% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ธุรกิจยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์โตแรงรับโควิด-19
ทั้งนี้สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปริมาณการจัดตั้งในช่วง 8 เดือนแรกเพิ่มขึ้น ถึง 43.95% ซึ่งการจดทะเบียนจัดตั้งที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณความต้องการสินค้าทางเวชภัณฑ์และเภสัชภัณฑ์ที่มีเพิ่มขึ้นจากความจำเป็นที่ต้องใช้ในการป้องกันและรักษาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และส่งผลให้การจดเลิกในช่วง 8 เดือนแรกลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นกัน และเมื่อดูภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้งย้อนหลังไป 2 ปี พบว่า ในปี 63 ยอดจัดตั้งเพิ่มจากปี 62 จำนวน 394 ราย คิดเป็น 43.39%
ปัจจุบันมีจำนวนนิติบุคคลที่ยังดำเนินกิจการอยู่ ณ วันที่ 31 ส.ค. 2564 มีทั้งสิ้น 11,964 ราย เพิ่มขึ้น 1,352 ราย คิดเป็น 12.74% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนส.ค.63 ที่มีอยู่จำนวย10,612 ราย ในส่วนของทุนจดทะเบียนมีมูลค่า 108,392.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,714.75 ล้านบาท คิดเป็น 3.55% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนส.ค.63 ที่มีทุนจดทะเบียน 104,677 ล้านบาท
“ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด - 19 ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ การผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 จำนวนผู้ได้รับวัคซีนในประเทศที่เพียงพอ และการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการในธุรกิจยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง”นายทศพล กล่าว
สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ประกอบด้วย 1.กลุ่มธุรกิจการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ด้านสุขอนามัยหรือเภสัชกรรมที่ทำจากยาง สิ่งของเครื่องใช้ด้านอนามัยหรือเภสัชกรรมที่ทำจากยาง เช่น ถุงยางอนามัย จุกนม ถุงน้ำร้อน หลอดสำหรับฉีดยา ถุงมือแพทย์ (ยาง) ฯลฯ
2. การผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ในทางการแพทย์ (ยกเว้นทางทันตกรรม) การผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และชุดเครื่องมือที่ใช้ในห้องปฏิบัติการเครื่องมือผ่าตัดและเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการผ่าตัด การผลิตผ้าที่ใช้ในการผ่าตัด ด้ายและผ้าปลอดเชื้อ การผลิตเครื่องฆ่าเชื้อที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ การผลิตเครื่องกลั่นและเครื่องปั่นแยกสารในห้องปฏิบัติการ การผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในทางการแพทย์ศัลยกรรม หรือสัตวกรรม เช่น เตียงผ่าตัด เตียงตรวจโรค เตียงพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ การผลิตเหล็กดามกระดูกและตะปูควง กระบอกฉีดยา เข็มฉีดยา ท่อและสายดูด ฯลฯ การผลิตเครื่องมือผ่าตัดกระดูกและเครื่องมือผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ การผลิตกระจกสำหรับตัดแว่น การผลิตเทอร์โมมิเตอร์ รวมทั้งการผลิตวัสดุต่างๆ ที่เกี่ยวกับตา เช่น แว่นสายตา แว่นกันแดด เลนส์สายตาเพื่อนำไปตัดแว่น เลนส์สัมผัสแว่นนิรภัย
3.การขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ทั้งชนิดเคมีภัณฑ์ ยา และสมุนไพร เครื่องเทศที่ใช้ทำยาไทยแผนโบราณ และทางการแพทย์ เช่น ของที่ใช้แต่งแผลที่มีสารยึดติด ชุดปฐมพยาบาล ผลิตภัณฑ์เคมีที่ใช้ภายนอกสำหรับคุมกำเนิด ฯลฯ การขายส่งอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์
4.ร้านขายปลีกสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และเวชภัณฑ์การขายปลีกยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์ยาอื่นๆ รวมถึงการขายปลีกสมุนไพรและเครื่องเทศที่ใช้ทำยาไทยแผนโบราณ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร